เมื่อวิลเลี่ยม อัลเฟรด แร วูด (William Alfred Rae Wood) อายุได้ 18 ปี เขาสมัครสอบเพื่อทำงานเป็นนักศึกษาล่ามสำหรับสถานกงสุลอังกฤษในตะวันออกไกล ที่ต้องการล่ามภาษาฝรั่งเศสและเยอรมัน วูดเดินทางมาถึงกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) เขาเป็นนักศึกษาล่ามที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น (Wood, 1999 หน้า 37)
เขาเรียนภาษาไทยในช่วงแรกของการทำงานจึงทำให้เขามีความรู้ด้านภาษาไทยอย่างลึกซึ้ง และงานส่วนใหญ่ของเขาคือการทำหน้าที่เสมือนผู้พิพากษาในศาลนอกอาณาเขตของกงสุลอังกฤษ จึงทำให้วูดได้เรียนรู้ชีวิตของผู้คนที่หลากหลาย วูดจึงมีประสบการณ์จากคำให้การที่น่าขันเพื่อความพยายามเอาตัวรอดของคนในบังคับอังกฤษที่ถูกกล่าวหา (Wood, 2003 หน้า 45-49) นอกจากนั้นวูดยังได้เรียนรู้ชีวิตของชาวสยามและชาวต่างชาติในกรุงเทพฯในช่วงที่อหิวาตกโรคระบาดรวมถึงระบบสาธารณะสุขของสยามในเวลานั้น (Wood, 2003 หน้า 2-6) วูดยังมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีสินค้าขาเข้าและสินค้าขาออกซึ่งเป็นงานที่ยากลำบากทั้งนี้เพราะเรือกลไฟส่วนใหญ่มีสัญชาติอังกฤษและมีกัปตันเรือที่น่ากลัวโดยเฉพาะตอนเมา (Wood,1999 หน้า 37)
เมื่อทำงานที่สถานกงสุลอังกฤษประจำกรุงเทพฯได้ 8 ปี ในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) วูดเดินทางมารับตำแหน่งผู้ช่วยกงสุลของสถานกงสุลอังกฤษที่น่าน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) สถานกงสุลอังกฤษที่น่านได้ปิดตัวลง เขาได้ย้ายไปทำงานที่สถานกงสุลอังกฤษที่เชียงราย และต่อมาสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงรายก็ปิดตัวลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) ทำให้วูดต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) จนถึงปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) วูดเดินทางไปรับตำแหน่งรองกงสุลของสถานกงสุลอังกฤษที่สงขลาเป็นเวลา 3 ปี และในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เขาได้รับตำแหน่งรองกงสุลของสถานกงสุลอังกฤษที่ลำปาง จนถึงเดือนตุลาคม ปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) วูดได้ย้ายมาทำงานที่สถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ และในปีต่อมา พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) เขาได้รับตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931)
งานแรกของวูดที่สถานกงสุลอังกฤษในเชียงใหม่คือการสร้างอาคารสำนักงาน บ้านพักของกงสุลใหญ่ ห้องพิจารณาคดี ห้องพักคนรับใช้ และคอกช้างสำหรับช้าง 4 ตัว เพื่อใช้สำหรับการเดินทางไกลที่สำคัญ ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปี และในปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) อาคารสำนักงานสถานกงสุลอังกฤษใหม่ก็เปิดดำเนินการ ซึ่งอาคารสำนักงานและบ้านพักกงสุลตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก ที่มีอาณาบริเวณที่กว้างใหญ่ประกอบไปด้วยสนามหญ้าด้านหน้าอาคารพร้อมทั้งต้นไม้และแปลงดอกไม้ที่สวยงาม ตรงประตูทางเข้าสถานกงสุลอังกฤษทางทิศตะวันตกของอาคารสำนักงานมีรูปปั้นของพระนางเจ้าวิคตอเรียที่นำมาจากลอนดอนตั้งอยู่ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) ต่อมาเมื่อสถานกงสุลอังกฤษพร้อมทั้งที่ดินทั้งหมดถูกขายให้เอกชน จึงมีการนำรูปปั้นของพระนางวิคตอเรียถูกนำไปตั้งไว้ที่สุสานชาวต่างชาติในเชียงใหม่ (Wood, 1999 หน้า 38)
วูดพบรักครั้งแรกเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นรองกงสุลอังกฤษที่น่าน ในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) โดยวูดและคณะได้เดินทางด้วยช้างไปปฏิบัติภารกิจที่เชียงราย และได้ตั้งแคมป์ที่พักใกล้บ้านของชาวนาที่คุ้นเคยกันดี เย็นวันหนึ่งในขณะที่เขานั่งจิบน้ำชาอยู่นั้นก็มีสาวสวยคนหนึ่งนั่งบนหลังควายผ่านไปยังบ้านชาวนา วูดตกหลุมรักสาวน้อยคนนั้นทันที และในวันต่อมาเขาเดินไปบอกกับพ่อของสาวน้อยที่ชื่อบุญซึ่งตอนนั้นมีอายุได้ 14 ปี ว่าเขารักบุญและต้องการสู่ขอเธอมาเป็นภรรยา วูดกับบุญแต่งงานกันในปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) เมื่อวูดมาทำงานเป็นรองกงสุลอังกฤษที่เชียงราย และในปีต่อมาพ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) บุญก็ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก อมาลา โรส (Amala Rose) ที่เชียงราย ต่อมาเมื่อสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงรายได้ปิดตัวลง วูดนำภรรยาและลูกของเขากลับไปอังกฤษ ทั้งนี้เนื่องจากวูดมีความต้องการให้ภรรยาของเขามีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี
ต่อมาเมื่อวูดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองกงสุลประจำสถานกงสุลอังกฤษที่สงขลา ในขณะที่บุญและลูกยังคงอาศัยอยู่กับมารดาของเขาใกล้เมืองลิเวอร์พูลเป็นเวลา 3 ปี เมื่อบุญสำเร็จจากโรงเรียนสอนการเรือนและการเข้าสังคมของสตรีแล้วเธอได้กลับมาอยู่กับวูดที่สงขลาในปี พ.ศ. 2453 (ค.ศ. 1910) และลูอิส (Louis) ลูกสาวคนเล็กของเขาก็ได้กำเนิดขึ้นที่นี่ในปี พ.ศ. 2454 (ค.ศ. 1911) ต่อมาวูดได้ย้ายไปทำงานที่สถานกงสุลอังกฤษที่ลำปาง และย้ายมาเป็นกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ ในขณะที่บุญก็ได้ทำหน้าที่ภรรยากงสุลใหญ่ได้อย่างดี อาทิ จัดเตรียมสนามหน้าอาคารกงสุลสำหรับงานรื่นเริงต่างๆ ร่วมงานกับยิมคานาสปอร์ตคลับ แจกรางวัลให้กับผู้ชนะการแข่งขันและกล่าวโอวาทเป็นภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) วูดได้ถูกหลวงสินธ์ประสิทธิ์หัวหน้าตำรวจที่เชียงใหม่สั่งให้เขากักตัวอยู่แต่ในบ้านโดยห้ามติดต่อเพื่อนหรือเพื่อนบ้าน ซึ่งในตอนนั้นยังไม่มีทหารญี่ปุ่นในเชียงใหม่ จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคม มีทหารญี่ปุ่นจำนวน 50 นายเดินทางมาถึงเชียงใหม่ และประมาณบ่ายสี่โมงเย็นของวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) วูดถูกนำตัวไปอยู่บ้านหลังเล็กๆใกล้สถานีรถไฟเชียงใหม่พร้อมกับเดวิด แม็คฟี, อาร์เธอร์ คิวริเปล และ วิลเลี่ยม เบ็น ซึ่งพวกเขาต้องนอนกับพื้นในห้องเดียวกัน วันที่ 26 ธันวาคม พวกเขาถูกพาตัวขึ้นรถไฟไปยังกรุงเทพฯ เดวิด แม็คฟี ในตอนนั้นอายุ 72 ปี และสุขภาพไม่แข็งแรงและอีกสองวันต่อมาเขาประสบกับภาวะโรคหลอดเลือดสมองและไม่เคยหายขาดอีกเลย วันที่ 27 ธันวาคม พวกเขาถูกนำไปยังค่ายกักกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ หลังจากอยู่ในค่ายกักกันประมาณ 3 ปี วูดถูกปล่อยตัวและได้รับอนุญาตให้กลับบ้านที่เชียงใหม่ในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) (Backhouse, 2020 หน้า 29) เมื่อกลับถึงบ้านวูดพักรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง หลังจากนั้นเขาก็กลับมาเป็นคนที่กระตือรือร้นเช่นเดิม วูดเป็นคนที่มีสุขภาพดีและแข็งแร็งจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต (Wood, 1999 หน้า 40) วูดเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2513 (ค.ศ. 1970) เมื่ออายุได้ 91 ปี รวมเวลาที่เขาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ทั้งหมดประมาณ 56 ปี
เมื่อวูดเสียชีวิตแล้ว บุญต้องอาศัยอยู่ที่บ้านคนเดียวเพราะลูกสาวทั้งสองอาศัยอยู่ที่อังกฤษ ผู้คนทั่วไปในเชียงใหม่ค่อนข้างชินตากับการเห็นบุญพร้อมทั้งพวงกุญแจบ้านพวงใหญ่ของเธอ มีอยู่ครั้งหนึ่งโขมยขึ้นบ้านและบุญได้ขังโขมยไว้ในห้องและเรียกตำรวจมาจับโขมย ต่อมาเมื่อมีอายุมากขึ้นทำให้บุญไม่สามารถอยู่คนเดียวได้อีกต่อไป ในปี พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) บุญได้ขายบ้านและที่ดินทั้งหมดให้กับอรัน เทลเฟอร์ (Aran Telfer) นักธุรกิจชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ จากนั้นบุญได้เดินทางไปพักอาศัยอยู่กับอมาดาลูกสาวคนโตที่อังกฤษ เนื่องจากลูอิสลูกสาวคนเล็กได้เสียชีวิตแล้วในปี พ.ศ. 2518 (ค.ศ. 1975) บุญเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2525 (ค.ศ. 1982) ที่อังกฤษ และวันที่ 4 ธันวาคม หลังจากเผาศพเธอที่อังกฤษแล้วในปีเดียวกันได้มีการนำขี้เถ้ากระดูกของเธอมาฝังไว้เคียงข้างวูดที่สุสานชาวต่างชาติที่เชียงใหม่ (Wood, 1999 หน้า 40-43)
ภาพที่ 28: วูดกับอมาดา ลูกสาว
ที่มา: Wood, 2003 หน้า 116
ภาพที่ 29: มิสซิสบุญ วูด ในวัยกลางคน
ที่มา: Wood, 2003 หน้า 116
บ้านกงสุลวูด
วูดเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2474 (ค.ศ. 1931) หลังจากทำงานในตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำสถานกงสุลอังกฤษในเชียงใหม่ได้ 17 ปี หลังเกษียณอายุวูดได้พาครอบครัวไปอาศัยอยู่ย่านริชมอนด์ ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเทมส์ ชานกรุงลอนดอนซึ่งเป็นย่านที่อยู่ของคนมีฐานะและใกล้กับสวนคิวอันเลื่องชื่อของอังกฤษ หลังจากพักอาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงเวลาสั้นๆ เช้าวันหนึ่งวูดก็ประกาศว่าจะกลับมาพักอาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับสมาชิกในครอบครัวของเขาเป็นอย่างมาก (Wood, 1999 หน้า 42)
เมื่อได้กลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง วูดได้ซื้อที่ดินติดกับแม่น้ำปิงย่านหนองหอย ทางทิศใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ (Wood, 1999 หน้า 42) และได้สร้างบ้านหลังแรกของเขาซึ่งปัจจุบันคือร้านอาหาร Le Coq d’Or ต่อมาเขาได้สร้างบ้านหลังที่สองซึ่งเจ้าของในปัจจุบันพักอาศัยอยู่ หลังจากนั้นเขาได้สร้างบ้านหลังที่สามที่มีสนามหญ้าหน้าบ้านที่กว้างใหญ่สวยงามเช่นเดียวกับสนามหญ้าของสถานกงสุลอังกฤษเชียงใหม่ที่เขาเคยสร้าง ในตัวบ้านชั้นล่างมีห้องรับแขกรูปแบบหกเหลี่ยม มีบันไดขึ้นไปชั้นสองและห้องใต้หลังคา ปัจจุบันตัวบ้านและบริเวณบ้านหลังที่สามของเขาคือร้านกาแฟ The Consul’s Garden ที่ยังมีต้นฉำฉาขนาดใหญ่ในสวนที่วูดและภรรยาเคยช่วยกันปลูกเมื่อครั้งสร้างบ้าน ต้นฉำฉาต้นนี้มีอายุประมาณ 91 ปี วูดใช้เวลาหลังเกษียณทำงานอดิเรกที่เขาชื่นชอบที่บ้านหลังนี้โดยการเขียนหนังสือและสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนไทยเป็นเวลาถึง 39 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านกงสุลวูด
บ้านกงสุลวูดหลังนี้ เป็นอาคารหลังที่สามในอาณาบริเวณของที่ดินกงสุลวูด เป็นที่ดินติดริมแม่น้ำปิงฝั่งตะวันออก อาคารหลังนี้ถูกสร้างอย่างแนวคิดบ้านในประเทศตะวันตกจากการแบ่งชั้นอาคารตามพื้นที่ใช้สอยของอาคารเป็น ชั้นใต้ดิน ชั้นที่หนึ่ง ชั้นที่สอง และชั้นใต้หลังคา ทำให้อาคารหลังนี้สูงใหญ่จากเทคนิคการก่อสร้างด้วยใช้เสาคอนกรีตและการก่ออิฐเป็นผนังรับน้ำหนัก ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีการก่อสร้างอาคารสมัยใหม่ ทำให้อาคารสามารถมีขนาดใหญ่ได้มากขึ้น การวางผังมีการประกอบรูปทรงของวิคตอเรียนมาใช้ในห้องรับแขกฝั่งริมแม่น้ำปิง ทำให้เห็นได้ชัดว่าอาคารหลังนี้ออกแบบไปกับบริบท ทั้งทางด้านหน้าที่เชื่อมทางรถและด้านข้างที่เชื่อมทางสัญจรทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีส่วนยื่นของห้องใต้หลังคาออกมาเป็นกล่องที่มีหลังคาคลุมเป็นอัตลักษณ์ของบ้านวิคตอเรียนชนบทและบ้านพักในตะวันตกด้วย การวางตัวอาคารที่มีสนามหญ้ากว้างขวางอยู่หน้าบ้าน ทำให้บ้านพักหลังนี้ ยิ่งใหญ่จากการการมองภายนอกอาคาร
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
ตัวอาคารวางตัวขนานกับแนวลำแม่น้ำปิง เช่นเดียวกับกรณีศึกษาของสถาปัตยกรรมอาณานิคมอื่นๆ โดยมีการวางตัวอาคารที่เน้นการสร้างสวนหน้าบ้านขนาดใหญ่ และสร้างทางเดินรถจากทางเข้ามาถึงหน้าตัวอาคาร แล้วให้วนรถออก สะท้อนการวางผังที่มีอิทธิพลของการวางอาคารชนชั้นศักดินาในตะวันตก ความน่าสนใจคือ การที่ตัวอาคารมีประตูทางออกด้านตะวันตก ที่นำไปสู่แม่น้ำปิงโดยมีศาลาท่าน้ำวางขนานไปกับแนวอาคารด้านตะวันตก ทำให้เห็นว่าตัวอาคารนี้รองรับการเข้าถึงจากทั้ง 2 ฝั่งคือ ฝั่งหน้าอาคารด้วยการเข้าอย่างเป็นทางการ และการเข้าฝั่งข้างอาคารด้านตะวันตกที่เป็นทางเข้าถึงของผู้ที่เข้ามาจากการสัญจรทางแม่น้ำปิง ในอดีตลำเหมืองในบริเวณนี้ทำให้พื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่ถูกใช้รองรับน้ำและการเกษตร แต่ทว่าการวางอาคารริมน้ำขนานไปลำแม่น้ำโดยมีแนวคิดการวางอาคารที่เน้นสวนขนาดใหญ่เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวแบบนี้ เป็นแนวคิดการสร้างบ้านพักของขุนนางหรือคนชนชั้นศักดินา ที่หรูหราโอ่อ่าและสะท้อนสุนทรียภาพของอาคารที่มีความสมดุลและมีเสถียรภาพ โดยการวางผังบริเวณแบ่งแยกอาณาเขตของอาคาร ออกจากกับพื้นที่ภายนอกด้านฝั่งถนนและรอบข้างอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้มากที่สุด
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
จากการวิเคราะห์แนวคิดในการวางผังตัวอาคาร พบว่ารูปแบบของอาคารหลังนี้เน้นการสร้างความสมมาตรของรูปด้านอาคาร โดนเน้นไปที่ด้านหน้าอาคารที่มีความเป็นเอกภาพของรูปทรงและความสมมาตรของอาคารทั้งสองฝั่ง หากพินิจพิจารณาก็จะพบว่าความสมมาตรของรูปทรงอาคารดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลของนีโอคลาสสลิก แต่พบว่ารูปทรงของห้องและการรูปด้านอาคารในฝั่งตะวันตกนั้น มีความน่าสนใจที่ใช่รูปทรงหกเหลี่ยมมาประกอบใช้ในส่วนโถงห้องนั่งเล่นปีกอาคารด้านใต้ และห้องน้ำชั้นสอง เพื่อสร้างความสมมาตรอีกรูปอาคารจากฝั่งตะวันตก ทำให้เห็นว่าการวางผังอาคารนั้นเป็นการวางจังหวะของช่วงเสาให้ได้ระยะสมมาตรของอาคารในฝั่งเหนือใต้ก่อน และหลังจากนั้นจึงเพิ่มลูกเล่นในช่วงเสาของห้องรับแขกปีกตัวอาคารด้านตะวันตกให้เป็นรูปทรงหัวมุมหกเหลี่ยมคล้ายกับแนวคิดบ้านพักนีโอวิคตอเรียน ที่รับการเข้าถึงฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งอธิบายได้ว่าแนวคิดการวางอาคารรูปแบบนี้น่าสนใจเพราะเป็นการผสมอิทธิพลอาณานิคมทั้งแนวคิดนีโอคลาสคลิกและนีโอวิคตอเรียนมาใช้ จึงเรียกได้ว่าเป็นอาคารที่มีความเป็นอาณานิคมที่ถูกออกแบบให้เป็นบ้านสมัยใหม่มากขึ้น
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
ความน่าสนใจในปัจจุบันคือ การต่อเติมอาคารในแต่ละยุคสมัย ที่ทำให้ตัวอาคารถูกต่อเติมตามกิจกรรมใช้สอยใหม่ๆอาทิ ในยุคขาดแคลนการสาธารณูปโภคเรื่องน้ำดี ตัวอาคารก็ได้เพิ่มเติมหอเก็บน้ำที่ออกแบบให้เข้ากับอาคาร การต่อเติมพื้นที่จอดรถด้านข้างอาคาร การต่อเติมอาคารจากระเบียงชั้น 2 ไปสู่อาคารใหม่ด้านหลัง ทำให้ตัวอาคารในปัจจุบันมีทั้งการก่อสร้างใหม่และเก่าผสมกันไป