สโมสรยิมคานาก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) โดยต่างชาติที่อาศัยอยู่ในเชียงใหม่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษที่ทำงานป่าไม้ในเขตหัวเมืองฝ่ายเหนือ (Shaw, 1997 หน้า 9) ซึ่งจากการพบปะหารือกันในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) ระหว่างพระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) กับคณะคนอังกฤษอีก 11 คน ประกอบด้วยกงสุลอังกฤษและพนักงานของบริษัทสัมปทานป่าไม้ในเชียงใหม่เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดินเพื่อจัดตั้งเป็นสถานที่เล่นกีฬาสำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งดับเบิลยู อาร์ ดี เบคเค็ต กงสุลอังกฤษได้กล่าวถึงที่ดินด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง ที่เรียกว่า ‘บ้านเมืองก๋าย’ ซึ่งมีชาวบ้านหลายคนอ้างสิทธิเป็นเจ้าของที่ดินและเรื่องกรรมสิทธิที่ดินก็ยังอยู่ที่ศาล (Shaw, 1997 หน้า 9)
ต่อมาเบคเค็ตได้ขอร้องให้นายเผ่ไปติดต่อกับบุคคลผู้ที่อ้างเป็นเจ้าของที่ดินเพื่อตกลงการซื้อขายที่ดิน ในตอนแรกนายเผ่ได้แจ้งราคาไว้ทั้งหมดจำนวน 2,000 รูปี ต่อมานายเผ่ได้แจ้งเบคเค็ตว่าได้ติดต่อกับเจ้าของที่ดินเรียบร้อยแล้ว แต่มีเจ้าพรหมซึ่งเป็นบุคคลที่สามได้เข้าไปพัวพันเรื่องการซื้อขายที่ดินและได้เสนอราคาที่ดินจำนวน 2,500 รูปี ซึ่งได้มีการช่วยบริจาคเงินซึ่งส่วนใหญ่จากคนอังกฤษในเชียงใหม่จนครบจำนวน 2,500 รูปี (Shaw, 1997 หน้า 21) และในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) เบคเค็ตได้เชิญเจ้าของที่ดินทั้งหมดมาพบที่สถานกงสุล เพื่อตกลงเรื่องการซื้อขายที่ดินดังจำนวนทั้งหมด 102 ไร่ และการจ่ายเงินค่าที่ดิน ในขณะเดียวกันเจ้าพรหมได้นำเอกสาร 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งระบุว่าเจ้าของที่ดินทั้ง 4 คน ประกอบด้วยหน้อยพรหม หนานเสน หนานกันทา และเจ้าอ้ม ได้ขายที่ดินให้กับเจ้าพรหมแล้วในราคา 1,500 รูปี และจำนวนอีก 800 รูปี ได้จ่ายให้เจ้าอ้มไปแล้ว เมื่อเบคเค็ตได้สอบถามเจ้าของที่ดินว่าทำไมถึงขายที่ดินให้เจ้าพรหมทั้งๆที่เบคเค็ตได้ติดต่อเพื่อจะซื้อที่ดินจากพวกเขาผ่านข้าหลวงสยามประจำเชียงใหม่แล้ว เจ้าของที่ดินแจ้งว่าไม่เข้าใจว่าทำไมเจ้าพรหมถึงได้มาซื้อที่ดินจากพวกเขา อีกทั้งเรื่องทุกอย่างผ่านมาทางศาลและพระยาพิทักษ์ (ผู้พิพากษา) ซึ่งเจ้าของที่ดินก็ต้องการขายที่ดินให้กับเบคเค็ตตามราคาที่ตกลงกันไว้ แต่พวกเขาเกรงกลัวว่าจะได้รับโทษหากขายที่ดินให้ชาวต่างชาติโดยตรง อีกทั้งเจ้าพรหมยังไม่ได้จ่ายเงินจำนวน 700 รูปี ให้กับหน้อยพรหม หนานเสน และหนานกันทา และสุดท้ายเจ้าของที่ดินดั้งเดิมทั้ง 4 คนได้ลงนามรับรองแนวเขตที่ดิน โดยมีหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ร่วมรับฟังเป็นพยานด้วย (Shaw, 1997 หน้า 22) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเขาสามารถพูดและเข้าใจภาษาเหนือได้เป็นอย่างดี และต่อมาในวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1889) ได้มีการเชิญพระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงสยามประจำเชียงใหม่ เจ้าหอหน้า (ยศในขณะนั้น ซึ่งต่อมาคือพระเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าหลวงองค์ที่ 8) และเจ้าราชวงศ์ (ยศในขณะนั้น ซึ่งต่อมาคือพลตรี เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงองค์ที่ 9 องค์สุดท้าย) ให้มาเป็นผู้อุปถัมภ์สโมสร (Shaw, 1997 หน้า 23)
กลุ่มคนอังกฤษที่เริ่มก่อตั้งสโมสรยิมคานา เชียงใหม่ ประกอบด้วย
ดับเบิลยู อาร์ ดี เบคเค็ต (W.R.D. Beckett) กงสุลอังกฤษแห่งเชียงใหม่ ระหว่างปี พ.ศ. 2439-2446 (ค.ศ. 1896-1903)
อาร์ เจ ชาลด์ค็อตต์ (R.J. Chaldecott) ทำงานกับบริษัทบอร์เนียวจำกัดระหว่างปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) ถึงปี พ.ศ. 2463 (ค.ศ. 1920)
เจมส์ เกรย์ (James Gray) ทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ประจำตอนบนของสยาม ระหว่างปี พ.ศ. 2434-2444 (ค.ศ. 1891-1901)
เจ ฮาร์เปอร์ (J. Harper) เขาย้ายมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) ในตำแหน่งผู้ช่วยหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์
หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ (Louis T. Leonowens) หลุยส์ย้ายมาทำงานให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัดแทนหมอชีคที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889)
ที เอช ไลล์ (T.H. Lyle) ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองกงสุลอังกฤษแห่งน่าน ในปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) และตำแหน่งกงสุลอังกฤษแห่งเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907)
อาร์ จี แมคฟาร์เลน (Robert Gray Macfarlane) ทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897)
ดี เอฟ แม็คฟี (David Fleming Macfie) เดินทางมาเชียงใหม่เพื่อเป็นผู้ช่วยหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) และได้รับตำแหน่งผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัด สำนักงานเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2442 (ค.ศ. 1899) จนเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927)
อาร์ มาร์ติน (R. Martin) ย้ายมาทำงานกับบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ ในปี พ.ศ. (ค.ศ. 1895) และลาออกในปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900)
ดับเบิลยู จี เพียนิเจอร์ (W. G. Peiniger) ทำงานกับบริษัทบอร์เนียวจำกัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) โดยทำงานอยู่ในป่า จนกระทั่งย้ายกลับอังกฤษในปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919)
เอช สเลด (H. Slade) ถูกส่งมาจากรัฐบาลอังกฤษในอินเดียตามการร้องขอจากรัฐบาลสยามเพื่อมาดูแลการจัดการป่าไม้ทางตอนบนของสยาม ในปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) เขาได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลสยามให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้ เขาลาออกจากตำแหน่งในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) และเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคที่ร่างกุ้งในปี พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905)
พระยาทรงสุรเดช (อั้น บุนนาค) ได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงใหญ่ประจำเชียงใหม่ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) และกลับกรุงเทพฯในปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) และเสียชีวิตในปีต่อมา
ดี จี แอนเดอร์สัน (D. G. Anderson) เคยเล่นรักบี้ให้กับทีมสก๊อตแลนด์ และย้ายมาทำงานกับบริษัทบอร์เนียวจำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) และย้ายไปอยู่อเมริกาใต้ในปี พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903)
วิลเลี่ยม วิลลอฟบี วูด (William Willoughby Wood) ย้ายเข้ามาทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา สำนักงานเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่กรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) เขาย้ายกลับไปอังกฤษและได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาด้านป่าไม้และผู้บริหารของบริษัทที่ลอนดอน ลูกชายคนเล็กของเขา ริชาร์ด วิลลอฟบี วูด (Richard Willoughby Wood) เป็นสมาชิกสโมสรยิมคานาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) และเป็นผู้อุปถัมภ์คนหนึ่งของสโมสร (Shaw, 1997 หน้า 12-14) เขาเขียนหนังสือ De Mortuis: The Story of the Chiang Mai Foreign Cemetery (Wood, 1999)
ในช่วงแรกมีสมาชิกสโมสรประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นคนต่างชาติทั้งหมด ซึ่งคนต่างชาติที่เป็นสมาชิกสโมสรยิมคานาแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นคนอังกฤษ ซึ่งบางคนมาทำงานที่เชียงใหม่เป็นบางช่วงเวลา และบางคนก็อยู่อาศัยที่เชียงใหม่ตลอดชีวิต อีกหลายๆคนก็ทำงานอยู่ที่เมืองละคอน (ลำปาง) แพร่ น่าน ระแหง (ตาก) หรืออาศัยอยู่ที่สถานีป่าไม้ และทุกคนมักกลับเข้ามาในเมืองเชียงใหม่ในช่วงคริสต์มาส หรือในช่วงหน้าแล้งปลายเดือนเมษายนของทุกปีทั้งนี้เพราะไม่สามารถล่องไม้ซุงจากป่าไปตามแม่น้ำได้ (Shaw, 1997 หน้า 6)
ในปี พ.ศ. 2450 (ค.ศ. 1907) สมาชิกสโมสรยิมคานาเพิ่มขึ้นเป็น 91 คน และสมาชิกของสโมสรส่วนใหญ่ไม่ได้พำนักอยู่ที่เชียงใหม่ จึงทำให้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 มีจำนวนสมาชิกที่จ่ายเงินค่าบำรุงสโมสรเพียงประมาณ 20 ถึง 30 คน เท่านั้น อีกทั้งมีน้อยครั้งมากที่สมาชิกมาประชุมร่วมกันเกิน 12 คน
วิลเลี่ยม อัลเฟรด แร วูด (W. A. R. Wood) กงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และ เดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี (D. F. Macfie) ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัด เป็นบุคคลที่ร่วมทำงานด้านบริหารให้กับสโมสรอย่างแข็งขัน (Wood, 1999 หน้า 20 และหน้า 39) ตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 และก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ภายหลังบุคคลทั้งสองจะปลดเกษียณจากงานประจำแล้วก็ตาม
ในวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) วิลเลี่ยม แฮริส ได้เสนอต่อที่ประชุมกรรมการสโมสรว่าสมาชิกของสโมสรยิมคานา เชียงใหม่ ต้องเป็นบุคคลผู้ถือสัญชาติอังกฤษ ยุโรปและอเมริกาเท่านั้น ซึ่งมีการรับรองโดยกฏข้องบังคับที่ 18 (Shaw, 1997 หน้า 34) และอีก 43 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) คณะกรรมการสโมสรได้อนุญาตให้คนไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของสโมสรได้ (Shaw, 1997 หน้า 9) แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484-2488 (ค.ศ.1941-1945) สโมสรต้องปิดตัวไประยะหนึ่ง และต่อมาในปี พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) สโมสรได้เปิดดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
กีฬาที่นิยมเล่นกันตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสโมสรยิมคานาส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาของคนอังกฤษโดยเฉพาะ เช่น การแข่งขันขี่ม้า โปโล คริกเก็ท สควอช (Wood, 1999 หน้า 20 และหน้า 39) และต่อมาได้มีการสร้างสนามเทนนิส และสนามกอล์ฟซึ่งถือเป็นสนามกอล์ฟแห่งแรกในภาคเหนือ (Shaw, 1997 หน้า 44) ในปี พ.ศ. (ค.ศ. 1901) ได้มีการสั่งซื้อโต๊ะบิลเลียดมาจากต่างประเทศ และขนส่งมาทางเรือจากกรุงเทพฯมาถึงเชียงใหม่ และในขณะเดียวกันแม็คฟีก็ได้ปรับปรุงสนามกอล์ฟ โดยการศึกษาข้อมูลจากนิตยสารฟิลด์ (Field) ที่เขาสั่งซื้อโดยตรงทางไปรษณีย์ (Bristowe, 1976 หน้า 97)
สโมสรยิมคานา เป็นสถานที่สำหรับชาวต่างชาติในเชียงใหม่และพนักงานบริษัทสัมปทานป่าไม้ที่ทำงานอยู่ในป่าได้มีโอกาสฉลองคริสต์มาสร่วมกันกับครอบครัว โดยมีการจัดการแข่งขันต่างๆและมีถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะ
อาคารสโมสรยิมคานา
อาคารสโมสรยิมคานาหลังแรกถูกออกแบบและสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) ในรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษ และต่อมามีการสร้างอาคารอื่นๆอีกหลายหลังในสโมสร (Shaw, 1997 หน้า 9) ปัจจุบันพบว่าอาคารที่สร้างในช่วงการก่อตั้งสโมสรเหล่านั้นได้ถูกรื้อถอนไปแล้ว และในปี พ.ศ.2508 (ค.ศ. 1965) ได้มีการเสนอเพื่อสร้างอาคารสโมสรใหม่ ในวงเงิน 120,000 บาท (Shaw, 1997 หน้า 108) ซึ่งเป็นอาคารสโมสรที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของอาคารสโมสรยิมคานา
อาคารสโมสรยิมคานาในอดีตพบว่ามีการวางผังที่ผสมผสานระหว่างความสมมาตรอย่างนีโอคลาสสิค แต่กลับใช้รูปทรงหกเหลี่ยมอย่างนีโอวิคตอเรียนมาใช้ ความน่าสนใจคือสโมสรนี้เป็นพื้นที่นันทนาการของกลุ่มคนต่างชาติในเมืองเชียงใหม่ ซึ่งในตอนแรกจำกัดเฉพาะคนอังกฤษ ยุโรป และอเมริกัน เท่านั้น ดังนั้นอาคารของสโมสรนี้จึงถูกออกแบบรองรับกิจกรรมของคนตะวันตก โดยการนำเข้าโต๊ะบิลเลียดมาจากสิงคโปร์ เพื่อนำมาใช้ในสโมสรนี้ ทำให้อาคารจะต้องมีพื้นที่ห้องใหม่ที่สามารถวางโต๊ะบิลเลียดและเล่นภายในห้องนี้ได้ ทำให้โถงด้านหน้าอาคารถูกออกแบบให้เกิดโถงรับส่งคนจากรถเป็นรูปทรงแปดเหลี่ยมและมีการสร้างปีกอาคารไปตามองค์ประกอบของการใช้ระแนงไม้เพื่อทำให้อาคารมีกิจกรรมร้านอาหารและห้องล็อกเกอร์ สะท้อนรูปแบบวิถีชีวิตของชนชั้นสูงที่เป็นกิจกรรมมาจากประเทศเจ้าอาณานิคมได้อย่างชัดเจน
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
ผังบริเวณของอาคารนี้ชัดเจนว่าถูกออกแบบเพื่อการเป็นโครงการสาธารณะ สโมสรนี้วางผังเพื่อให้เกิดประโยชน์ใช้สอยตามนันทนาการของคนอังกฤษมากมาย ตัวอาคารหลักถูกออกแบบให้เป็นอาคารโถงต้อนรับของโครงการ การวางผังบริเวณจึงวางให้อาคารหลังนี้เป็นอาคารเชื่อมต่อระหว่างความเป็นสาธารณะไปสู่พื้นที้ส่วนตัวของสมาชิกสโมสร ด้วยการวางตัวอาคารสมมาตรและใช้โถงอาคารรูปหกเหลี่ยมเป็นทางเข้าหลัก และวางตัวอาคารรองไปในการวางขนานไปกับอาคารหลัก เพื่อให้เกิดสมมาตรกับรูปด้านหน้าอาคารหลัก ซึ่งเป็นแนวคิดสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิค
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
ถึงแม้ว่ารูปทรงหกเหลี่ยมจะเป็นรูปทรงในรูปแบบวิคตอเรียน แต่ทว่าแนวคิดการวางผังอาคารนั้นกลับใช้แนวคิดสถาปัตยกรรมรูปแบบนีโอคลาสสิคเป็นหลัก จากการตั้งศูนย์กลางของอาคารและวางแนวเสาเพื่อให้เกิดสมมาตรของรูปทรง และใช้จังหวะของแนวเสาเป็นตัวกำหนดรูปทรงของอาคาร ที่มีหลังคาปั้นหยาเป็นหลังคาหลักรับกับหลังคาจั่วหกเหลี่ยมด้านหน้า โดยมีโถงบันไดเป็นพื้นที่โถงกลางเชื่อมไปปีกอาคารซ้ายและขวาอย่างสมดุล ทำให้อาคารมีการสร้างเอกภาพผ่านช่วงเสา มีความสมมาตรในการวางผังอาคาร อีกทั้งยังมีการยังใต้ถุนอาคารให้สูง ซึ่งเป็นแสวคิดร่วมสมัยเพื่อล้อไปกับบริบทพื้นถิ่นด้วย
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
องค์ประกอบอาคารหลังนี้ค่อนข้างสะท้อนความเป็นอาคารสาธารณะ จึงไม่ได้มีการตกแต่งทรงจั่วของอาคาร แต่กลับเน้นการตกแต่งด้วยแผ่นไม้ซึ่งมีการวางโครงไม้ทรงเรขาคบิตสมัยใหม่ และคิ้วไม้แกะสลัก ซึ่งเป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมขนมปังขิงหรือ shingle style ทำให้เห็นได้ว่าช่างหัตถศิลป์ได้ทำงานตามโจทย์ของเจ้าของโครงการเป็นหลัก ไม่ได้สะท้อนความเป็นช่างพื้นถิ่นเทียบเท่าอาคารพักอาศัย