เดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี เดินทางมายังสยามและเข้าทำงานกับบริษัทบอร์เนียวจำกัดในฐานะผู้ช่วยของหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ผู้ดูแลธุรกิจป่าไม้ตอนบนของสยามของบริษัทบอร์เนียวจำกัด แม็คฟีเดินทางออกจากกรุงเทพฯพร้อมกับหลุยส์และมาถึงเชียงใหม่เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) (Wood, 1992 หน้า 19) และในเดือนกันยายนในปีเดียวกันเขาถูกส่งตัวไประแหง (ตาก) เพื่อช่วยบรรเทาอาการป่วยของ ซี แอล เอช ชาลด์ค็อตต์ (C.L.H. Chaldecott) และกลับมาเชียงใหม่หลังจากส่งตัวชาลด์ค็อตต์จากระแหงไปกรุงเทพฯเพื่อกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2438 (ค.ศ. 1895) แม็คฟีถูกส่งตัวไปทำงานที่ระแหงจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) และในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกันแม็คฟีได้เดินทางจากระแหงมาเชียงใหม่พร้อมกับ ซี เอส เล็คกี้ (C.S. Leckie) ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) แม็คฟีลากลับไปเยี่ยมบ้านที่อังกฤษและกลับมาในวันที่ 16 ธันวาคม ปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) แม็คฟีได้รับการแต่งตั้งเป็นรักษาการผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ ต่อในปีมาแม็คฟีได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่เป็นเวลาถึง 28 ปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2442 (ค.ศ. 1899) จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927)
ในช่วงแรกของการทำงานเป็นผู้ช่วยของหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ที่เชียงใหม่ แม็คฟีมีหน้าที่ต้องติดตามหลุยส์เพื่อร่วมเล่นการพนันที่คุ้มเจ้าหลวง ซึ่งสร้างความลำบากแก่แม็คฟีเพราะเขาอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงแต่คุ้มเจ้าหลวงตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำปิง ทำให้บ่อยครั้งที่แม็คฟีต้องว่ายข้ามแม่น้ำปิงเพื่อมายังคุ้มหลวงโดยเขาได้จัดการฝากเสื้อผ้าไว้ผลัดเปลี่ยนก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนั้นแม็คฟีต้องใจหายใจคว่ำกับการเล่นพนันของเขาเพราะถ้าหากเสียพนันย่อมหมายถึงเขาต้องควักเงินจ่ายเอง ในขณะที่หลุยส์สามารถใช้เงินของบริษัทบอร์เนียวจำกัดจ่ายเมื่อแพ้พนันในคุ้มหลวง แต่ก็เป็นการเสียที่คุ้มค่ากับโอกาสในการที่บริษัทบอร์เนียวจำกัดได้รับอนุญาตสัมปทานป่าไม้ในทำเลดีๆจากเจ้าหลวง (Bristowe, 1976 หน้า 89; จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 156) อย่างไรก็ตามแม็คฟีต้องอดทนกับพฤติกรรมการชอบเล่นการพนันและฮาเร็มของหลุยส์ที่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องนัก (Bristowe, 1976 หน้า 145) อีกทั้งแม็คฟีต้องติดตามหลุยส์ในการพาสาวๆไปขี่ช้างเที่ยวป่า เพื่อเอาใจสาวๆจึงมีการประดับประดาดอกไม้ที่กูบช้างอย่างสวยงาม และในช่วงแคมป์ไฟตอนกลางคืนหลังจากที่บรรดาสาวๆได้แสดงการฟ้อนรำอย่างอ่อนช้อยแบบล้านนาแล้ว แม็คฟีก็มักจะถูกสาวๆขอร้องให้เขาสอนเต้นรำแบบชาวสก็อต (Bristowe, 1976 หน้า 89)
ภรรยาคนแรกของแม็คฟีเป็นคนสันกำแพง แต่เมื่อมีอายุได้ 43 ปี แม็คฟีได้ตกหลุมรักคำเมานางข้าหลวงในคุ้มของเจ้าดารารัศมี ผู้ซึ่งติดตามเจ้าดารารัศมีไปอยู่วังหลวงที่กรุงเทพฯ (Wood, 1992 หน้า 18) แม็คฟีกับคำเมาได้จดทะเบียนสมรสที่สถานกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2456 (ค.ศ. 1913) หลังจากมีบุตรธิดาด้วยกันแล้ว ซึ่งทำให้คำเมาเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนอังกฤษโดยอัตโนมัติสืบเนื่องจากกฏหมายสมรสของอังกฤษในขณะนั้น (Wood, 1992 หน้า 18) ทั้งคู่ครองชีวิตสมรสอย่างมีความสุขและยาวนาน
ในช่วงที่แม็คฟีทำงานเป็นผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดนั้นเขาได้ส่งลูกๆไปศึกษาในโรงเรียนประจำชั้นเยี่ยมและมีระดับของโลกตะวันตกในยุคนั้น และในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสเชียงใหม่ แม็คฟีได้ถวายช้างเผือกจากป่าแม่ยางมิ้ม อำเภอฝาง ซึ่งเป็นป่าไม้ของบริษัทบอร์เนียวจำกัด ทำให้บริษัทได้รับสัมปทานป่าแม่หยวกเป็นการตอบแทน (Wood, 1992 หน้า 19) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 2484 ถึงปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1941-1945) แม็คฟีและชาวต่างชาติคนอื่นๆที่ยังคงอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ในเวลานั้นได้ถูกทหารญี่ปุ่นจับตัวไปขังที่กรุงเทพฯ ในขณะที่แม่เลี้ยงคำเมาและไวโอเล็ตลูกสาวยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านริมดอยอย่างปลอดภัย (Wood, 1992 หน้า 29) หลังจากถูกปล่อยตัวจากการกักขังและกลับบ้านที่เชียงใหม่ได้ 4 เดือน แม็คฟีได้เสียชีวิตในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เมื่ออายุได้ 75 ปี (Wood, 1992 หน้า 20) รวมเวลาที่เขาทำงานและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เชียงใหม่ประมาณ 52 ปี
บ้านริมดอย
บ้านริมดอยของเดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี ถูกสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) เมื่อแม็คฟีเกษียณอายุจากการเป็นผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดเชียงใหม่ เขาอาศัยอยู่บ้านริมดอยหลังนี้เป็นเวลาประมาณ 18 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) บ้านริมดอยของแม็คฟีตั้งอยู่บนถนนห้วยแก้ว ตัวบ้านตั้งอยู่ใกล้กับเขตรั้วด้านตะวันออกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน เดิมบริเวณบ้านมีที่ดินทั้งหมดประมาณ 80 ไร่ ต่อมาที่ดินจำนวนมากถูกเวณคืนให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 130) โดยบริเวณแนวรั้วบ้านด้านเหนือติดกับถนนห้วยแก้ว ซึ่งปัจจุบันคือตึกแถวตั้งแต่ร้านโบทมาจนถึงใกล้แนวรั้วมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริเวณที่ดินด้านหลังทางทิศใต้เป็นนาข้าวซึ่งต่อมาครอบครัวได้บริจาคที่ดินเพื่อสร้างโบสถ์คริสตจักรห้วยแก้ว และสุสานคริสต์ห้วยแก้ว (อริยา สิทธิสมบัติ, 2565 – สัมภาษณ์) เมื่อแม่เลี้ยงคำเมาเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ได้มีการขายที่ดินที่เหลือให้กับบริษัทเอกชนซึ่งต่อมาได้สร้างหมู่บ้านจัดสรรวิลล่าผาพิง โดยไวโอเล็ตลูกสาวคนโตของแม็คฟีได้รื้อบ้านเก่า รวมถึงบ้านและอาคารหลายหลังในบริเวณดังกล่าว และได้นำไม้เก่าบางส่วนมาสร้างบ้านที่บ้านท่าหลุก ตำบลสันผีเสื้อติดแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก (อนุ เนินหาด, 2557 หน้า 198) บ้านริมดอย สร้างในรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคม ครึ่งปูนครึ่งไม้ โดยสร้างด้วยไม้สักเป็นส่วนใหญ่ เป็นอาคารที่ทันสมัยและแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยของเจ้าของบ้าน
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านริมดอย
อาคารบ้านริมดอยถูกรื้อถอนไปแล้ว ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจัดสรรชื่อ วิลล่าผาผิง ซึ่งอยู่บนถนนห้วยแก้ว จากคำบอกเล่าของญาติตระกูลแม็คฟีพบว่า พื้นที่ดินของบ้านแม็คฟีคืออาณาเขตของบ้านพักและพื้นที่การทำเกษตรทั้ง นา สวน และป่าไม้ที่มีบริเวณกว่า 80 ไร่ โดยแม็คฟีบริจาคพื้นที่บางส่วนของเขาเพื่อสร้างคริสตจักรห้วยแก้ว ทั้งพื้นที่สุสานและโบส์ถในปัจจุบัน ทำให้เห็นถึงความกว้างใหญ่จากหมู่บ้านวิลล่าผาพิงมาจรดถึงคริสตจักรห้วยแก้ว ว่าเป็นอาณาเขตของบ้านแม็คฟีในอดีต ในปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกเวนคืนเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อาคารหลังนี้ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของเมืองเก่า เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติและสาธารณูปโภคเรื่องน้ำ เนื่องจากระบบน้ำของเมืองเชียงใหม่ในอดีต เป็นระบบผันน้ำจากดอยสุเทพลงมาตามแนวห้วยต่างๆ สาขาของน้ำเหล่านี้จะไหลจากทิศตะวันตกไปสู่ทิศตะวันออกผ่านระบบห้วย ลำเหมือง คลอง และคูเมืองทำให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองเก่าที่เป็นที่ตั้งของบ้านแม็คฟี และบ้านคิวริเปลนั้น ต่างตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของเมืองเป็นทุ่งนาและป่าไม้ที่สำคัญของเมือง
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจจากการถอดแบบร่างทางสถาปัตยกรรมจากรูปถ่ายไม่กี่ชุด พบว่าตัวอาคารนั้นถูกวางบนพื้นที่ที่มีการจัดสวนหน้าบ้าน มีแนวต้นไม้ล้อมรอบเป็นทางเข้าอาคาร ตัวอาคารนั้นออกแบบให้มีลักษณะร่วมสมัยเป็นอาคารคอนกรีตผสมไม้ โดยมีโครงสร้างผนังก่ออิฐรับน้ำหนักในบางส่วนและมีโครงสร้างไม้ประกอบ ชั้นสองของอาคารเป็นเรือนไม้ มีหลังคาจั่วและปั้นหยา โดยใต้ถุนอาคารค่อนข้างเตี้ยเนื่องจากเป็นการประยุกต์ชั้นใต้ถุนบ้านตะวันตกกับใต้ถุนเรือนพื้นถิ่นทำให้พื้นที่นี้ถูกใช้เก็บของ นอกจากนี้ความน่าสนใจของอาคารนี้คือเริ่มมีแนวคิดการกันแดดและฝนจากการสร้างหลังคากันสาดในชั้นที่หนึ่ง ล้อมรอบอาคาร เพื่อกันแดดและฝนสาดด้วย
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
เนื่องจากข้อมูลบ้านหลังนี้ มีเพียงรูปถ่ายและคำบอกเล่า ทำให้การวางผังบริเวณของอาคารหลังนี้จึงเป็นอ้างอิงจากคำบอกเล่าของผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งผู้ที่เคยอาศัยอยู่ และคนในชุมชนที่เคยเข้ามาใช้อาคารในอดีต พบว่าผังบริเวณอาคารนี้วางตัวขนานกับแนวถนนห้วยแก้ว ที่เป็นทางเชื่อมไปยังห้วยแก้วและดอยสุเทพ ทำให้ตัวอาคารนั้นร่นจากระยะถนนเข้าไปค่อนข้างลึก เพื่อให้มีสวนหน้าบ้านและแวดล้อมไปด้วยต้นไม้นำสายตาจากทางเดินเข้าสู่ตัวอาคาร และมีทางเดินรถล้อมรอบสวนหน้าบ้านและมีด้านหน้าอาคารที่ยื่นรับการปล่อยคนจากรถ (Drop off) ทำให้บ้านหลังนี้มีความเป็นส่วนตัวสูง อีกทั้งร่มรื่นไปด้วยแนวต้นไมัที่ถูกใช้ส่งเสริมอำนาจของเจ้าของบ้าน นอกจากนี้คำบอกเล่าต่างๆของผู้ที่เคยเข้ามาบ้านของแม็คฟี ต่างพูดว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ที่มีอาณาเขตของสวนและไร่นากว้างขวาง ก่อนที่พื้นที่บางส่วนจะถูกเวนคืนเป็นพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของไร่นาและสวนได้มอบให้เป็นคริสตจักรห้วยแก้วด้วย สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การวางตัวอาคารนั้นมีแนวคิดของการวางพื้นที่เกษตรกรรมส่วนบุคคลร่วมด้วยและมีความเกี่ยวข้องกับระบบสาธารณูปโภคในเรื่องการจัดการน้ำ ที่วางตัวโครงการไปกับแนวลำน้ำห้วยแก้ว ที่ทำให้ตัวบ้านสามารถรับน้ำที่ไหลตามห้วยจากดอยสุเทพได้ จากตะวันตกไปสู่ตะวันออกด้วยหล่มน้ำและลำห้วยย่อยในพื้นที่ละแวกนั้น