หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านป่าไม้จากวิทยาลัยเซนต์ จอห์น มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) เอฟเวอลีน แวน มิลลิงเก็น (Evelyn van Millingen) ได้เข้าทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและมาประจำอยู่ที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า อีก 4 ปีต่อมาเอฟเวอลีนได้ย้ายมาประจำอยู่ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ.2470 (ค.ศ. 1927) และในปี พ.ศ. 2472 (ค.ศ. 1929) เอฟเวอลีนแต่งงานกับแคทลีน ที่ปีนัง (Backhouse, 2015 หน้า 12-13) ก่อนที่เขาจะได้รับตำแหน่งผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานลำปางในปี พ.ศ. 2479-2482 (ค.ศ. 1936-1939) (Backhouse, 2020 หน้า 3) และผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) ในช่วงปี พ.ศ. 2481-2483 (ค.ศ. 1938-1940) เขาได้ช่วยเจรจาในการสัมปทานป่าไม้กับรัฐบาลสยาม และทำหน้าที่การเงินของบริษัทรวมถึงกรมธรรม์และบริษัทขนส่งทางเรือ เอฟเวอลีนและแคทลีนมีบุตร 2 คน เอเดรียนบุตรชาย และพาเมลาบุตรสาว (Backhouse, 2015 หน้า 12-13)
สงครามโลกครั้งที่สอง ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตอันแสนสุขของเอฟเวอลีนและครอบครัวที่บ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ทั้งนี้เพราะพวกเขาต้องรีบหนีออกจากเชียงใหม่อย่างไม่คาดคิดก่อนที่ทหารญี่ปุ่นจะเข้ามายังเชียงใหม่และไม่ได้หวนกลับมาใช้ชีวิตที่เชียงใหม่อีกเลย เช้าวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) จากข่าวที่ว่ากองทัพญี่ปุ่นได้บุกฐานทัพอเมริกาที่อ่าวเพิร์ล และกำลังจะบุกเข้ามายังประเทศไทย เนื่องจากเอเดรียนลูกชายได้ถูกส่งเข้าโรงเรียนในแคนาดาก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 8 ธันวาคม แคทลีนได้รีบพาลูกสาวพาเมลาซึ่งมีอายุ 5 ขวบ หลบหนีออกจากเชียงใหม่อย่างฉุกละหุกพร้อมกับผู้หญิงชาวต่างชาติอีกประมาณ 20 คนและเด็กอีกจำนวนหนึ่ง พวกเขาเดินทางโดยรถไฟจากเชียงใหม่ไปยังลำปาง และเดินทางต่อโดยรถยนต์ไปยังอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายซึ่งมีพรมแดนติดกับเขตรัฐฉาน ประเทศพม่า (Backhouse, 2020 หน้า 24) จากแม่สายพวกเขาเดินทางโดยรถยนต์ต่อไปยังเชียงตุง (Backhouse, 2020 หน้า 23) และเดินทางต่อไปยังเมืองเมเมี้ยว (พินอูลวิน) ต่อมาเมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกพม่า ทำให้ชาวต่างชาติในเมืองเมเมี้ยวต้องอพยพออกจากเมืองในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ชาวต่างชาติเหล่านั้นได้เดินทางไปตอนเหนือของเขตชินวินเพื่อเดินทางต่อไปยังพรมแดนของประเทศอินเดีย แต่แคทลีนและพาเมลาไม่ได้ร่วมเดินทางไปกับคนต่างชาติกลุ่มใหญ่เหล่านั้นแต่ยังคงรอคอยเพื่อพบกับเอเวอลีนที่เมเมี้ยว ต่อมาแคทลีนและพาเมลาได้เดินทางมายังเมืองตองยีและพักกับครอบครัวของเพื่อนประมาณสามอาทิตย์ และในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) ได้มีประกาศอพยพผู้คนออกจากเมืองตองยี เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นได้บุกยึดกรุงร่างกุ้งได้แล้ว ในวันที่ 13 มีนาคม แคทลีนและพาเมลาเดินทางออกจากเมืองตองยีด้วยรถยนต์เพื่อไปยังสถานีรถไฟชเวนยวง (Shwenyaung) และเดินทางต่อด้วยรถไฟเพื่อไปถึงเมืองชเวโบ (Shwebo) ทางตอนเหนือของมัณฑเลย์ ซึ่งการเดินทางประสบกับปัญหาและความลำบากมากมาย หลังจากนั้นแคทลีนและลูกได้เดินทางโดยเครื่องบินไปยังเมืองจิตตะกอง (Chittagong) และนั่งรถไฟไปยังเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย เมื่อไปถึงกัลกัตตาแคทลีนและพาเมลาในฐานะผู้อพยพได้ถูกพาไปพักที่ฟอร์ดวิลเลี่ยม ป้อมปราการในเมืองกัลกัตตา ซึ่งต้องนอนบนพื้นกลางแจ้งด้วยเสื้อผ้าชุดเดียวและผ้าห่มหนึ่งผืน ที่เต็มไปด้วยคนเจ็บป่วยจำนวนมาก ต่อมาได้มีเพื่อนมารับแคทลีนและพาเมลาไปพักยังบ้านในกัลกัตตาและได้ย้ายไปพักที่เมืองกูลมาร์ก ในแคว้นแคชเมียร์ ทางตอนเหนือของอินเดีย (Backhouse, 2015 หน้า 34-44)
เนื่องจากเอฟเวอลีนต้องการเดินทางเข้าไปที่สถานีป่าไม้ในหลายพื้นที่เพื่อแจ้งให้พนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาได้รับทราบว่ากองทัพญี่ปุ่นได้บุกประเทศไทยและทหารญี่ปุ่นกำลังเดินทางมาเชียงใหม่ ในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2584 (ค.ศ. 1941) เอเวอลีนขับรถยนต์จากเชียงใหม่และเอาไปฝากไว้ที่บ้านเพื่อนที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน แล้วนั่งรถไฟต่อไปยังลำปาง จากนั้นได้นั่งรถยนต์ต่อไปยังแม่สาย ก่อนที่จะหนีเข้าไปยังเขตแดนพม่าในวันที่ 10 ธันวาคม (Backhouse, 2020 หน้า 26) และต่อมาเอเวอลีนได้เข้าร่วมกับกองทัพอังกฤษที่ร่างกุ้ง ในตำแหน่งพันตรี ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2485 (ค.ศ. 1942) เอฟเวอลีนและเพื่อนอีกคนหนึ่งได้หนีจากการจับกุมของทหารญี่ปุ่นเพราะเขาถูกส่งตัวให้ติดตามแนวหลังของทหารญี่ปุ่น ทำให้เขาต้องพรางตัวอยู่ในป่าหลายวัน และในเดือนมิถุนายนเอฟเวอลีนได้เดินทางไปพบแคทลีนภรรยาและพาเมลาลูกสาวที่เมืองกูลมาร์ก ในแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย หลังจากนั้นเอเวอลีนได้เข้าทำงานด้านหน่วยข่าวกรองของอังกฤษที่กรุงนิวเดลลี อินเดีย (Backhouse, 2015 หน้า 49) ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เอเวอลีน แคทลีน และพาเมลาเดินทางกลับอังกฤษ เอฟเวอลีน แวน มิลลิงเก็น เสียชีวิตในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) เมื่ออายุได้ 56 ปี ที่อังกฤษ (Backhouse, 2015 หน้า 58-60)
บ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา
บริษัทบอมเบย์เบอร์มาเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจป่าไม้ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) และในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) บริษัทบอมเบย์เบอร์มาได้ซื้อที่ดินทางทิศใต้ของโบสถ์คริสต์ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกจากหมอชีค (Macfie, 1987) และต่อมาปี พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) ได้มีการสร้างสำนักงานของบริษัทและบ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาในที่ดินบริเวณนี้ (Pointon, 1964 หน้า 39) ในช่วงที่ อาร์เธอร์ ไลโอเนล คิวริเปล เป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่ ซึ่งคิวริเปลได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้จนเขาเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 (ค.ศ. 1935) บริษัทบอมเบย์เบอร์มาได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังลำปาง ทั้งนี้เพราะลำปางเป็นศูนย์กลางของเขตพื้นที่สัมปทานป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาในเวลานั้น (Backhouse, 2020 หน้า 6) และวิลเลี่ยม เบน ซึ่งได้รับมรดกจากครอบครัวในอังกฤษ ได้ตัดสินใจซื้อบ้านและที่ดินของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เชียงใหม่ในราคา 7,500 บาท และได้พาครอบครัวเข้าไปพักอาศัยที่บ้านพักผู้จัดการบริษัท (Wood, 1999 หน้า 20) และต่อมาในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) บริษัทบอมเบย์เบอร์มาย้ายสำนักงานใหญ่กลับมาที่เชียงใหม่อีกครั้ง เพราะพื้นที่สัมปทานป่าไม้แห่งใหม่ของบริษัทส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งมีความสะดวกในการเข้าถึงป่าไม้ดังกล่าวจากเชียงใหม่มากกว่าลำปาง และสัญญาเช่าป่าไม้ด้านตะวันออกแม่น้ำปิงจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2497-2498 (ค.ศ. 1954-1955) อีกทั้งสามารถเดินทางจากเชียงใหม่ไปถึงป่าไม้ของบริษัทในเขตพื้นที่พะเยาและลำปางภายในวันเดียว (Backhouse, 2020 หน้า 6) ทำให้บริษัทบอมเบย์เบอร์มาซื้อบ้านและที่ดินของสำนักงานเดิมที่เชียงใหม่คืนจากวิลเลี่ยม เบน ซึ่งเขาได้กำไรจากการขายคืน (Wood, 1999 หน้า 20) ต่อมาในปี พ.ศ. 2483 (ค.ศ. 1940) เอฟเวอลีน แวน มิลลิงเก็น ได้รับตำแหน่งผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่ เขาและครอบครัวได้อาศัยที่บ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เชียงใหม่หลังนี้จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เอฟเวอลีนและแคทลีนพร้อมทั้งพาเมลาลูกสาวต้องหลบหนีออกจากเชียงใหม่ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) (Backhouse, 2015 หน้า 28) และไม่มีโอกาสได้กลับมาพักอาศัยในบ้านหลังนี้อีกเลย
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พบเอกสารของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) รายงานว่าสัญญาเช่าป่าไม้ของบริษัทจะสิ้นสุดลงประมาณปี พ.ศ. 2498 ถึง พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1955-1956) และบริษัทคงไม่สามารถดำเนินธุรกิจป่าไม้ในสยามได้อีกต่อไป (BBTC, 1945) และต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) มีการรายงานเกี่ยวกับทรัพย์สินของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เชียงใหม่ว่ามีบ้านอยู่สามหลัง รวมถึงบ้านของผู้จัดการบริษัทอยู่ในสภาพดีและควรมีการซ่อมแซม และบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสามารถครอบครองที่ดินและบ้านได้อีกต่อไปเมื่อสัญญาสัมปทานป่าไม้สิ้นสุดลง (BBTC, 1956) และในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 (ค.ศ. 1955) มีเอกสารแจ้งเกี่ยวกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาต้องการขายไม้ซุงทั้งหมดที่เหลืออยู่ รวมถึงขายบ้านและที่ดินที่เป็นสำนักงานและบ้านพักผู้จัดการบริษัทที่เชียงใหม่โดยประเมินราคาไว้จำนวนสองล้านห้าแสนบาทถึงสามล้านบาท และหากผู้ซื้อไม่สามารถซื้อที่ดินและบ้านได้ทั้งหมดในครั้งเดียว ก็ให้มีการแบ่งขายที่ดินเป็นสองส่วนคือที่ดินด้านหน้าและด้านหลัง (BBTC, 1955) และต่อมาเมื่อสำนักงานใหญ่ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เชียงใหม่ปิดตัวลง ในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) นายชู โอสถาพันธ์ พ่อค้าผู้ร่ำรวยของเชียงใหม่ในเวลานั้นได้ซื้อบ้านและที่ดินทั้งหมดของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและได้เข้าพักอาศัยที่บ้านพักของอดีตผู้จัดการบริษัท นายชู โอสถาพันธ์ เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) (อนุ เนินหาด, 2550 หน้า 136) ต่อมาบ้านพักของอดีตผู้จัดการบริษัทถูกรื้อถอนไปในปี พ.ศ. 2516 (ค.ศ. 1973) และอาคารสำนักงานบริษัทถูกรื้อถอนในปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ปัจจุบันที่ดินของสำนักงานบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและบ้านพักผู้จัดการอยู่ในบริเวณริมปิงซุปเปอร์มาเก็ต ใกล้กับแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันออก (Backhouse, 2020 หน้า 12)
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มา
บ้านพักผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาหลังนี้มีรูปทรงสูงใหญ่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง ที่สะท้อนความยิ่งใหญ่ของการเป็นบริษัทธุรกิจป่าไม้ในนามบริษัทบอมเบย์เบอร์มา เมื่อพิจารณาจากภูมิหลังของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาจะพบว่า รูปทรงทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะรูปทรงหลังคาของอาคารปรากฏที่สถานีป่าไม้ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เมืองหางในรัฐฉาน พม่า โดยมีการสร้างอาคารรูปแบบคล้ายคลึงกันคือ การสร้างอาคารที่มีลักษณะจากการประกอบรูปทรงของอาคารโดยเชื่อมหลังคาด้วยการประกอบหลังคาทรงปั้นหยาและเชื่อมกับจั่วและมีเสาค้ำยันไปจนถึงหลังคา อิทธิพลของสถาปัตยกรรมอาณานิคมในพม่าปรากฏผ่านการวางเรือนให้มีทางเข้าทางหน้าอาคารเป็นโถงกลางที่มีระเบียงทางเดินไปถึงตัวอาคารชั้นลอยที่มีเสาไม้ค้ำยันสองด้าน
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
จากข้อมูลทางวรรณกรรม สามารถวิเคราะห์ได้ว่าอาคารหลังนี้มีการวางผังบริเวณอาคารเป็นบ้านเดี่ยว คือการวางตัวอาคารตั้งกลางพื้นที่ดินโดยรอบ ทำให้เกิดอาณาเขตของอาคารที่ชัดเจน ตัวอาคารมีลักษณะสูงใหญ่ ทำให้มีการใช้สวนหญ้าเพื่อประโยชน์อเนกประสงค์ ทำให้สร้างมุมมองกับรูปด้านหน้าอาคารที่โออ่า
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
ตัวอาคารมีการวางผังร่วมสมัย เนื่องจากตัวอาคารนี้เป็นอาคารยกใต้ถุนตามแนวคิดพื้นถิ่น แต่ในการออกแบบผังอาคารนั้นกลับมีการวางเสาอาคารอาคารตามรูปร่างของห้อง ทำให้รูปทรงของห้องแต่ห้องเป็นตัวกำหนดความสูงของเสาและหลังคาของอาคาร อีกทั้งวางตัวอาคารให้ด้านจั่วหลังคาหรือด้านสกัดเป็นด้านหน้าอาคาร อีกทั้งมีหลังคารับกับพื้นที่อาคารแต่ละส่วน ทำให้ตัวอาคารสะท้อนการวางผังอาคารตามแนวคิดวิคตอเรียน แต่การสร้างอาคารที่มีระเบียงเป็นตัวเชื่อมพื้นที่ระหว่างห้อง กับมีโถงบันไดขึ้นไปชั้นสอง รับด้านหน้าอาคาร สะท้อนให้เห็นว่ามีแนวคิดพื้นถิ่นเข้าไปร่วมในการออกแบบด้วย
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
ตัวอาคารสะท้อนการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนการใช้สอย เนื่องจากโครงสร้างอาคารเดิมนั้นเป็นการใช้ไม้สักเป็นโครงสร้างหลัก แต่เนื่องจากการเปลี่ยนเจ้าของ ซึ่งผู้วิจัยสันนิษฐานว่ามีอิทธิพลของช่างก่อสร้างพม่าในชั้นบนเรือน และการใช้พื้นที่ใต้ถุนแบบจีนผสมอยู่ จากเทคนิคการก่อสร้างร่วมสมัยจากประโยชน์ใช้สอยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ชั้นใต้ถุนอาคารนั้นมีองค์ประกอบบานประตูไม้และบานหน้าต่างไม้ที่เป็นอิทธิพลของคนจีนในเชียงใหม่