หลุยส์ โธมัส เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Leonowens) เป็นลูกชายของแหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนักฝ่ายในของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทั้งนี้สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2405 (ค.ศ. 1862) พระองค์ได้สอบถามไปยังบริษัทตัวแทนในสิงคโปร์เพื่อหาครูผู้หญิงเพื่อสอนภาษาอังกฤษให้กับโอรสและธิดาของพระองค์ ซึ่งผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดในสิงคโปร์ได้ดำเนินการแนะนำแหม่มแอนนาให้กับรัชกาลที่ 4 (Longhurst, 1956 หน้า 51) นักเรียนในชั้นเรียนภาษาอังกฤษของแอนนานั้นรวมไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงพระเยาว์ซึ่งเป็นเพื่อนในวัยเด็กของหลุยส์ แอนนาและหลุยส์อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯเป็นเวลา 5 ปีครึ่ง เมื่อแอนนาประสบปัญหาสุขภาพเธอจึงตัดสินใจเดินทางออกจากสยามเพื่อกลับอังกฤษในปี พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867)
ต่อมาหลุยส์ได้ถูกส่งเข้าโรงเรียนประจำในไอร์แลนด์ ในขณะที่แอนนาและเอวิสลูกสาวคนโตเดินทางไปอเมริกา หลังจากนั้นหลุยส์ได้ตัดสินใจหันหลังให้โรงเรียนและเดินทางไปหาแม่ที่อเมริกา หลุยส์ในวัยย่างสิบห้าปีได้ถูกส่งเข้าโรงเรียนอีกเพียงครั้งเดียวและต่อมาเขาก็พร้อมที่จะเผชิญชีวิตแบบผู้ใหญ่ เขาเปลี่ยนงานครั้งแล้วครั้งเล่า แต่วิญญาณนักผจญภัยของหลุยส์ไม่เคยเกรงกลัวความยากลำบากใดๆเลย ในปี พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) เขาทำงานที่บริษัทรถไฟแห่งหนึ่งในรัฐอาร์คันซอส์ ในปีต่อมาเขาย้ายไปทำงานกับบริษัทเรือกลไฟที่ฟิลาเดลเฟีย และแล้วเขาก็ตัดสินใจเดินทางไปแสวงโชคที่ออสเตรเลียโดยเริ่มงานที่เหมืองทองคำพาล์มเมอร์ และไม่นานต่อมาก็ทำหน้าที่เป็นตำรวจประจำเหมือง หลังจากนั้นเขาย้ายไปทำงานที่คลังสินค้าของสถานีรถไฟแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของออสเตรเลีย หลุยส์เดินทางเข้ามาสยามเมื่อเขาอายุได้ 25 ปี หลังจากที่ได้รับการปฏิเสธจากแม่เมื่อเขาขอเงินเพื่อเดินทางกลับอเมริกา (จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 53)
ในเวลาต่อมาหลุยส์ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับบัญชากองทหารม้าของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า (รัชกาลที่ 5) โดยหลุยส์ได้เสนอให้กองทัพสยามซื้อม้าเทศพันธุ์ใหญ่จากรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ทำให้เขาต้องเดินทางกลับไปออสเตรเลียเพื่อหาซื้อม้าจำนวนสองร้อยห้าสิบตัวกลับสยาม แต่ต่อมาม้าพันธุ์ดีก็ล้มตายไปเรื่อยๆเพราะขาดการบำรุงด้วยอาหารที่เหมาะสม และตำแหน่งงานของหลุยส์ก็ไม่ได้เลื่อนขึ้นไปจากเดิม เขาจึงได้กราบบังคมลาออกจากราชการ (จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 71)
ในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) หลุยส์ได้แต่งงานกับแคโรไลน์ น็อกซ์ บุตรีของกงสุลน็อกซ์กับภริยาชาวไทยชื่อแม่ปราง อีกทั้งในปีเดียวกันหลุยส์ได้รับตำแหน่งเป็นตัวแทนบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่ระแหง (ตาก) และปากน้ำโพ หลุยส์ทำหน้าที่รวบรวมไม้ซุงที่หมอชีคล่องลงมาตามแม่น้ำและหาซื้อไม้ซุงจากที่อื่นเพิ่มเติม นอกจากนั้นหลุยส์ยังได้รับค่าคอมมิสชั่นจากขายสินค้าอื่นๆของบริษัทบอร์เนียวจำกัด ต่อมาไม่นานบริษัทบอร์เนียวจำกัดได้สร้างบ้านไม้สักหลังใหญ่ให้หลุยส์และแคโรไลน์ได้พักอาศัยที่ระแหง (ตาก) โดยมีโกดังเก็บของและที่พักอาศัยของคนงานถูกสร้างแยกออกมาทางด้านซ้ายของตัวบ้าน ด้านหน้าของบ้านมีบันไดนำไปสู่ระเบียงหน้าบ้านสำหรับการชมสวนและแม่น้ำซึ่งเชื่อมต่อไปยังโถงกลางบ้านที่ทำให้บ้านมีลมโกรกเย็นสบายแม้จะเป็นหน้าร้อน โดยแยกปีกหนึ่งของบ้านเป็นห้องนอนและอีกปีกหนึ่งเป็นสำนักงาน โดยมีเรือนคนรับใช้อยู่ด้านหลัง (Bristowe, 1976 หน้า 72; จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 119 -120)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) หลุยส์ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นเอเย่นต์บริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่แทนตำแหน่งของหมอชีค (Bristowe, 1976 หน้า 73-74; จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 122-123) และในขณะเดียวกันก็หาลู่ทางในการจัดตั้งสำนักงานของบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 75) ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) หลุยส์ได้เดินทางมายังเชียงใหม่และได้เช่าที่ดินของอากรเต็ง (กิมเซ่งหลี) เพื่อสร้างสำนักงานใหญ่ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 77)
หลุยส์ได้เข้าพบพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่พร้อมกับหนังสือรับรองจากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีมหาดไทย พร้อมทั้งของกำนัล ทำให้ประตูคุ้มเจ้าหลวงเปิดต้อนรับเขาตลอดมา และด้วยนิสัยนักพนันของเขาทำให้เขาต้องเล่นการพนันในคุ้มหลวงจนดึกดื่นค่อนคืนอยู่เป็นประจำ และด้วยความเห็นชอบจากเลคกี้ทำให้หลุยส์สามารถนำเงินของบริษัทบอร์เนียวจำกัดมาลงทุนในการเสียพนัน เพื่อแลกกับโอกาสในการสัมปทานป่าไม้ที่เขาต้องการอย่างรวดเร็ว (Bristowe, 1976 หน้า 77)
ในปี พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) หลุยส์เดินทางกลับเชียงใหม่พร้อมกับผู้ช่วยคนใหม่ของเขา เดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี ที่เพิ่งเดินทางมาจากอังกฤษ เรือที่เป็นพาหนะเดินทางของหลุยส์จากกรุงเทพฯบรรทุกสินค้านานาชนิดสำหรับห้างใหม่ของเขาที่เชียงใหม่โดยมีนายไปรษณีย์เชียงใหม่ เจ สตีเวนส์ เป็นผู้จัดการ และจากการเดินทางไปซื้อสินค้าที่มะละแหม่งของหลุยส์ ทำให้เขาพบว่าสินค้าที่พม่ามีราคาถูกกว่า (Bristowe ,1976 หน้า 85)
ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) แคโรไลน์ ภรรยาของหลุยส์เสียชีวิต หลุยส์เสียใจเป็นอันมากจากการจากไปของภรรยา บริษัทบอร์เนียวจำกัดจัดการให้หลุยส์พาลูกๆสองคนเดินทางไปพบย่า แอนนา เลียวโนเวนส์ เมื่อหลุยส์เดินทางถึงอังกฤษและได้เดินทางต่อไปยังเมืองมาร์เกทเพื่อพบแม่ของเขาหลังจากที่ไม่พบกันมา 20 ปี แอนนาพาลูกๆของหลุยส์เดินทางต่อไปยังเมืองฮาลิแฟกซ์ เพื่อสมทบกับครอบครัวพี่สาวของเขา (Bristowe, 1976 หน้า 87)
เมื่อหลุยส์กลับมาเชียงใหม่อีกครั้งก็ได้รับข่าวจาก เดวิด เอฟ แม็คฟี และ อาร์ เอช โรเบิร์ตสัน ผู้ช่วยของเขาว่าชาลดีค็อทท์เสียชีวิตที่มอลต้าในขณะลาป่วย และ เอช ดับเบิลยู แม็คคอเลย์ คู่แข่งสำคัญที่ทำงานให้บริษัทบอมเบย์เบอร์มาก็เสียชีวิตเพราะเป็นไข้ และหมอชีคเพื่อนสนิทของเขาก็ป่วยหนักด้วยโรคบิด (Bristowe, 1976 หน้า 88)
ในช่วงเวลาที่ยุ่งยากสับสนนี้หลุยส์ได้รับความเห็นใจจากเจ้าจุ้มหญิงสาวเชื้อเจ้าจากเมืองลำปางที่ได้เข้ามาอยู่กินกับเขาที่บ้านใหม่บนถนนราชวงศ์ แถมยังได้แนะนำเจ้าพัดน้องสาวเข้ามาร่วมอาศัยอยู่กินด้วยกัน บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ใกล้คุ้มท่าของเจ้าหลวง ซึ่งต่อมาหลุยส์ก็สามารถสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าหลวงโดยการจัดหาคณะช่างฟ้อนและนักมวยมาถวายเป็นประจำ (Bristowe, 1976 หน้า 88, จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 155)
หลังจากหมอชีคได้เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) นอกจากหลุยส์เข้ามาสืบทอดฮาเร็มของหมอชีคหลังวัดมหาวันแล้ว เขายังได้เจรจากับตัวแทนของรัฐบาลสยามเพื่ออนุมัติให้บริษัทบอร์เนียวจำกัดมีสิทธิซื้อไม้ซุงจำนวนสองหมื่นกว่าต้นของหมอชีค นอกจากนั้นเขายังได้สัมปทานป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำสาละวินที่เจ้านายคนหนึ่งยึดคืนมาได้จากชาวพม่าทั้งนี้เพราะเขาผิดสัญญาไม่ชำระเงิน (Bristowe, 1976 หน้า 92, จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 166) ทำให้มีความเคลื่อนไหวเพื่อทำลายเครดิตของหลุยส์ (Bristowe, 1976 หน้า 92, จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 167) ซึ่งมีผลทำให้เลคกี้ ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่กรุงเทพฯแจ้งกับหลุยส์ว่าจะไม่ต่อสัญญาให้กับหลุยส์เมื่อถึงสิ้นปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) หลุยส์จึงชิงลาออกจากการเป็นเอเย่นต์ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) (Bristowe, 1976 หน้า 93)
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) หลุยส์ได้ร่วมเดินทางกับนิสเบ็ตไปยังสำนักงานใหญ่ของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่ร่างกุ้ง และในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) เขาได้เซ็นสัญญาข้อตกลงเพื่อทำงานเป็นเอเย่นต์ขายไม้ซุงให้กับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาเป็นเวลา 6 ปี โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) โดยบริษัทบอมเบย์เบอร์มาจะต้องจ่ายเงินค่าใช้จ่ายในสำนักงานให้หลุยส์จำนวน 1,800 ปอนด์ และมีเงื่อนไขว่าหลุยส์จะต้องยกเลิกสิทธิในการสัมปทานป่าไม้ในเขตลุ่มน้ำสาละวิน เพื่อให้บริษัทบอมเบย์เบอร์มาดำเนินการแทน (Bristowe, 1976 หน้า 95)
ชีวิตส่วนตัวที่สดใสของหลุยส์ได้หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อเขาได้พบกับสาวน้อยนัยน์ตาสีฟ้าที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากเมลเบิร์น ออสเตรเลีย สาวสวยวัยยี่สิบปีคนนี้คือเรต้า แม็คลาฮาน (Reta Maclaughlan) ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2442 (ค.ศ. 1899) สถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯได้บันทึกการสมรสระหว่างหลุยส์ เลียวโนเวนส์ อายุ 42 ปี กับเคธี บุลเลอร์ หรือเรต้า เมย์ แม็คลาฮาน อายุ 20 ปี หลังจากนั้นอีกสิบเอ็ดวันหลุยส์และเรต้าก็ขึ้นไปสมทบกับเคลเล็ทท์ที่ลำปาง (Bristowe, 1976 หน้า 99)
ที่บ้านใหม่ของหลุยส์และเรต้าที่ลำปางเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้มอบคนรับใช้ไว้ให้ 2 คน เพื่อเป็นของขวัญแต่งงาน ทุกอย่างดูแปลกใหม่ไปหมดสำหรับเรต้า บ้านของหลุยส์และเรต้าตั้งอยู่บนเนื้อที่กว้างขวางริมแม่น้ำวัง จากบ้านของหลุยส์และเรต้าสามารถมองเห็นสะพานข้ามแม่น้ำวังที่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อสองปีก่อนโดยช่างชาวอิตาลี (Bristowe, 1976 หน้า 100)
ในปี พ.ศ. 2444 (ค.ศ. 1901) สัญญาการค้าไม้สักกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาของหลุยส์ได้สิ้นสุดลงก่อนเวลาตามกำหนด 2 ปี เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หลุยส์ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทธุรกิจป่าไม้ของตนเองในเวลาต่อมา โดยมีเรต้าเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้าง (Bristowe, 1976 หน้า 102) ที่ลำปางหลุยส์ได้จัดตั้ง บริษัทหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) (Macfie, 2017) โดยมี พี เอ ฮัฟแมน (P.A. Huffman) ซึ่งลาออกจากการทำงานร่วมกับอี วี เคลเล็ตต์ (E.V. Kellett) เพื่อมาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของหลุยส์
หลังจากเหตุการณ์กบฎเงี้ยวได้บุกโจมตีลำปางในวันที่ 4 และ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) โดยหลุยส์และเคลเล็ตต์มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ดังกล่าว ในเดือนมุนายน พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) เคลเล็ตต์หุ้นส่วนธุรกิจของหลุยส์ได้ตัดสินใจเลิกกิจการธุรกิจที่ลำปางและอำลาสยาม เขาได้ขายสิทธิในธุรกิจตามกฏหมายและช้างจำนวนหนึ่ง (Macfie, 2017) และไม่เคยหวนกลับมาสยามอีกเลย
ในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2448 (ค.ศ. 1905) ที่ลอนดอนหลุยส์ได้จดทะเบียนบริษัทหลุยส์ โธมัส เลียวโนเวนส์ เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ด้วยทุนจำนวน 115,500 ปอนด์ และอีกสามวันต่อมาหลุยส์ได้ลงนามข้อตกลงขายสัญญาสัมปทานป่าไม้ ไม้สัก บ้านและที่ดิน เครื่องจักรโรงเลื่อยไม้ ช้าง เรือ และทรัพย์สินอื่นๆ เป็นเงิน 53,000 ปอนด์ และผลประโยชน์จากการถือหุ้นต่างๆ และในสองปีต่อมาพบว่าเขามีผลกำไรจากหุ้นไม่น้อยกว่า 13,067 ปอนด์ และผลกำไรในอนาคตประมาณ 25,299 ปอนด์ต่อปี โดยมีธนาคารแห่งฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ภายใต้การดูแลของเบ็คเก็ตต์ทูตอังกฤษในกรุงเทพฯ อีกทั้งผู้ซื้อยังใช้ชื่อบริษัทหลุยส์ โธมัส เลียวโนเวนส์ ตามเดิมเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป (Bristowe, 1976 หน้า 124)
หลุยส์ในวัยห้าสิบปี ย้ายจากลำปางมาอาศัยในบ้านใหม่ริมคลองสาธรในปัจจุบัน ก่อนจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่ลอนดอน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) หลุยส์และเรต้าอาศัยอยู่ที่ลอนดอนมากกว่ากรุงเทพฯ ถึงแม้ทั้งคู่ต้องการมาเยี่ยมเยือนสยามแต่ในปี พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) เกิดสงครามขึ้นในยุโรปจึงทำให้หลุยส์และเรต้าไม่สามารถเดินทางมาเยือนสยามได้ (Bristowe, 1976 หน้า 125)
เมื่อเกิดสงครามในยุโรปหลุยส์อายุหกสิบปี และเรต้าได้เป็นอาสาสมัครโรงพยาบาลในลอนดอน หลังสงครามมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในยุโรป ซึ่งทำให้หลุยส์เสียชีวิตในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2462 (ค.ศ.1919) ทิ้งทรัพย์สินมรดกไว้เป็นจำนวนมาก ต่อมาอีกสิบเจ็ดปีเรต้าก็เสียชีวิต เรต้าได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับหลุยส์ เธอได้มอบผลประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์สร้างตึกในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เงินบริจาคส่วนหนึ่งให้กับโรงพยาบาลโรคเรื้อนเชียงใหม่ และส่วนอื่นๆมอบให้กับสถานสงเคราะห์เด็กกำพร้า สถานสงเคราะห์คนชรา และสภากาชาดไทย (Bristowe, 1976 หน้า 129)
บ้านเสา 137 ต้น
หลังจากสัญญาระหว่างบริษัทบอร์เนียวจำกัดกับหมอชีคได้เสร็จสิ้นลง ซี เอส เลคกี้ ผู้จัดการใหญ่บริษัทบอร์เนียวจำกัดในกรุงเทพฯ ได้แต่งตั้งหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ขึ้นมาเป็นผู้ดูแลการดำเนินธุรกิจป่าไม้ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่แทนหมอชีค ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) เมื่อหลุยส์เดินทางมาถึงเชียงใหม่เขาได้เช่าที่ดินของอากรเต็ง (กิมเซ่งหลี) และเปิดสำนักงานของบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรก (Macfie, 1987) ซึ่งที่ดินและอาคารสำนักงานบริษัทบอร์เนียวจำกัดแห่งแรกนี้ตั้งอยู่ใกล้วัดเกตการาม ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้อนุญาตให้คนต่างชาติในเชียงใหม่ในเวลานั้นได้อยู่อาศัย (Macfie, 1987; 137 Pillars House Chiang Mai, 2011 หน้า 5 และหน้า 24) ในช่วงแรกหลุยส์อาศัยอยู่ที่บ้านใกล้ๆกับบ้านของแมคกิลวารี ศาสนาจารย์นิกายเพรสไบทีเรียน ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง (Bristowe, 1976 หน้า 146) ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) หลุยส์ เลียวโนเวนส์ได้สร้างบ้านพักของผู้จัดการคนใหม่ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง (Macfie, 1987) ซึ่งที่ตั้งของบ้านดังกล่าวในปัจจุบันอยู่ในบริเวณสถานกงสุลอเมริกาประจำจังหวัดเชียงใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 146) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้และใกล้กับคุ้มท่าของเจ้าหลวงเชียงใหม่ (เจ้าอินทวิชยานนท์) (Macfie, 1987) ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณของสำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ บ้านดังกล่าวเป็นบ้านไม้สักหลังใหญ่ที่ขยายหลังคาออกไป 3 ด้าน และมีเสาจำนวน 137 ต้น ซึ่งถูกใช้เป็นที่พักของผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัด จนถึงปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1927) (137 Pillars House Chiang Mai, หน้า 24) หลุยส์ เลียวโนเวนส์ได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ประมาณ 3 ปี จะเห็นได้ว่าบ้านของหลุยส์ ที่เชียงใหม่มีลักษณะคล้ายคลึงกับบ้านของเขาที่ระแหง (ตาก) คือเป็นบ้านชั้นเดียวสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง และมีเสาจำนวนมาก อีกทั้งหลุยส์ยังนำเจ้าจุ้มสาวสวยที่มีเชื้อเจ้าจากลำปางและเจ้าพัดน้องสาวมาร่วมอาศัยในบ้านหลังนี้ด้วย (Bristowe, 1976 หน้า 88) อย่างไรก็ตามต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) เมื่อสัญญาการเป็นเอเย่นต์จัดหาซุงไม้สักให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัดสิ้นสุดลง หลุยส์ได้ย้ายบ้านไม้สักหลังนี้มาไว้ในบริเวณเดียวกับสำนักงานบริษัทบอร์เนียวจำกัด ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นพื้นที่ของคนต่างชาติในเชียงใหม่ในเวลานั้น รวมเวลาที่หลุยส์ได้อาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ประมาณ 3 ปี (137 Pillars House Chiang Mai, 2011 หน้า 24)
เมื่อหลุยส์ได้ลาออกจากการเป็นเอเย่นต์ในการจัดหาไม้ซุงให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัด ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) เล็คกี้ที่ได้มาทำงานแทนหลุยส์ ลียวโนเวนส์ ที่เชียงใหม่ในช่วงปี พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) ถึงปี พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) และได้พักอาศัยในบ้านพักของผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดหลังนี้ประมาณสองปี และเมื่อเล็คกี้กลับไปทำงานที่กรุงเทพฯ เดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี่ (David Fleming Macfie) ได้พักอาศัยที่บ้านหลังนี้ในฐานะผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2441 (ค.ศ. 1898) จนกระทั่งเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ. 1927) (Macfie, 1987 ; กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 127) หลังจากเดวิด เอฟ แม็คฟี เกษียณไปแล้วก็ไม่มีใครอาศัยในบ้านหลังนี้ (137 Pillars House Chiang Mai, 2011 หน้า 24)
ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) วิลเลี่ยม จี เบน (William G. Bain) ซึ่งได้รับเงินมรดกจากบิดา ได้ซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานของบริษัทบอร์เนียวจำกัด จำนวนประมาณ 110 ไร่ ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของแม่น้ำปิง และได้ตั้งชื่อว่า ‘เบนคอมพาวด์’ (Bain Compound) และในภายหลังมีชื่อในภาษาไทยว่าเบนนิวาส (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 155; ประณีต เชิดจารีวัฒนานันท์, 2564-สัมภาษณ์) โดยบริษัทบอร์เนียวจำกัดได้เช่าสำนักงานเดิมที่ตั้งอยู่ในเบนคอมพาวด์เพื่อดำเนินการต่อไป (ประณีต เชิดจารีวัฒนานันท์, 2564-สัมภาษณ์) ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) ถึง พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) อาคารต่างๆของสำนักงานบริษัทบอร์เนียวจำกัดในเบนคอมพาวด์ถูกยึดครองโดยทหารญี่ปุ่น และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) วิลเลี่ยม เบน ถูกจับตัวไปจากพักและถูกนำไปไว้ที่ค่ายกักกันตัวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขาถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เมื่อสงครามสิ้นสุดลงวิลเลี่ยม เบน ได้กลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านพักในเบนคอมพาวด์ และยังคงทำงานให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัดต่อไป จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2501 (ค.ศ. 1958) เมื่ออายุได้ 77 ปี (Backhouse, 2020 หน้า 29)
ต่อมาได้มีการนำที่ดินส่วนใหญ่ของเบนคอมพาวด์ที่มีทั้งหมดจำนวน 110 ไร่ ไปจัดสรรขายทั้งนี้เนื่องจากข้อจำกัดเกี่ยวกับการถือครองที่ดินจำนวนมากโดยชาวต่างชาติ โดยที่ดินส่วนหนึ่งได้ถูกแบ่งเป็นมรดกให้กับลูกๆของวิลเลี่ยม เบน ในปี พ.ศ. 2545 (ค.ศ. 2002) ได้มีการแบ่งขายที่ดินส่วนหนึ่งรวมทั้งบ้านไม้สักที่เคยเป็นที่พักของผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวจำกัดให้กับบริษัทวงศ์พันเลิศ โฮลดิ้ง ซึ่งได้จัดสร้างโรงแรมหรูระดับห้าดาวชื่อ ‘137 Pillars House Chiang Mai’ บนที่ดินดังกล่าว โดยใช้บ้านไม้สักที่มีเสาจำนวน 137 ต้นที่สร้างโดยหลุยส์ เลียวโนเวนส์ มาเป็นจุดขายของโรงแรม โดยได้ย้ายและปรับปรุงบ้านไม้สักดังกล่าวเป็นห้องดื่มน้ำชาและห้องอาหารของโรงแรม (137 Pillars House Chiang Mai, 2011 หน้า 39; ประณีต เชิดจารีวัฒนานันท์, 2564-สัมภาษณ์) นอกจากนั้นโรงแรมยังได้สร้างห้องสวีทมีระเบียง (suite veranda) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงประวัติศาสตร์ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดสำนักงานเชียงใหม่และอดีตผู้แทนและผู้จัดการป่าไม้ของบริษัท เช่น ห้องสวีทหลุยส์ เลียวโนเวนส์ พูล (Louis Leonowens Suite Pool) ห้องสวีทเดวิด เฟลมมิ่ง แม็คฟี (David Flaming Macfie Suite) ห้องสวีทวิลเลี่ยม เบน เทอร์เรซ (William Bain Suite Terrace) เป็นต้น
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านหลุยส์
จากภูมิหลังของหลุยส์ เลียวโนเวนส์ ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงแนวคิดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรมได้เด่นชัดขึ้น เนื่องจากหลุยส์ เลียวโนแวนส์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์กับแวดวงชนชั้นสูงของสยาม ทำให้มีรสนิยมในเรื่องความงามทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจคือ มีการนำเอาความสมมาตรของรูปทรงทั้งนีโอคลาสสิคและวิคตอเรียนมาใช้กับรูปแบบการวางห้องและรูปด้านอาคาร ทั้งด้านหน้าที่มีการวางองค์ประกอบอาคารที่สมมาตรมีโถงทำงานและรับแขกแบ่งปีกอาคารเป็นสองส่วนอย่างพอดี ในด้านข้างอาคารก็นำองค์ประกอบอาคารวิคตอเรียนมาใช้คือรูปทรงหกเหลี่ยมที่นำมาใช้อย่างสมดุล เนื่องจากหลุยส์ เลียวโนแวนส์ใช้ชีวิตในสยามมาก่อน จึงได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมไทยกลางมาถึงอาคารหลังนี้ ผ่านวิธีคิดการสร้างอาคารที่มีเสาจำนวนมาก และใช้ชานเรือนเป็นตัวเชื่อมต่อพื้นที่ นอกจากนี้หลังคาอาคารก็สะท้อนอิทธิพลไทยกลางได้ดีจากการนำหลังคาปั้นหยามาใช้ในส่วนของอาคารหลัก
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
จากผังบริเวณดั้งเดิม เนื่องจากที่ตั้งของอาคารเดิมนั้นอยู่ในบริเวณสถานกงสุลอเมริกาเชียงใหม่ในปัจจุบัน อาคารหลังนี้วางตัวอาคารขนานกับริมแม่น้ำปิง ซึ่งเน้นการชมวิวริมน้ำ อีกทั้งแม่น้ำเป็นทางสัญจรหลักของการขนส่งไม้สักและการค้าขาย ทำให้อาคารมีการออกแบบอาคารที่พักอาศัยที่เน้นการวางอาคารแนวยาวขนานไปกับเส้นนอนของภูมิทัศน์
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
การวางผังอาคารเป็นอาคารพื้นถิ่นร่วมสมัยอย่างชัดเจน เนื่องจากเอาวิธีคิดเรือนพื้นถิ่นเกี่ยวกับการวางเสาเรือนเป็นหลัก จากนั้นถึงวางผังตามแนวเสาและการวางเรือน ทำให้อาคารมีสัดส่วนตามขนาดไม้และวัสดุ แต่พบว่ามีความพยายามสร้างสมดุลของอาคารผ่านการจัดรูปด้านอาคารให้มีสมดุลซึ่งกันและกัน องค์ประกอบร่วมสมัยของอาคารหลังนี้ที่น่าสนใจคือห้องโถงหกเหลี่ยมสองห้องที่ปรากฏในฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้ของอาคาร สะท้อนให้เห็นว่ามีการนำแนวคิดพื้นที่บ้านแบบวิคตอเรียนมาใช้ในอาคาร แต่กลับเลือกออกแบบในมุมอาคารด้านตะวันออก แล้วเน้นการเปิดใต้ถุนและชานบ้านแบบบ้านพื้นถิ่นเป็นหลัก ทำให้เห็นได้ชัดว่าอาคารหลังนี้ถูกคิดอย่างร่วมสมัยทั้งแนวคิดการปลูกเรือนแบบพื้นถิ่น การกำหนดความงามภาพรวมอย่างนีโอคลาสสิค และการใช้องค์ประกอบรูปทรงของพื้นที่ห้องหกเหลี่ยมจากรูปแบบวิคตอเรียนมาปรากฏบนอาคาร ซึ่งการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมอังกฤษกับสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นนี้ สะท้อนการเป็นอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษได้อย่างชัดเจน
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
อาคารหลังนี้มีเทคนิคการก่อสร้างอ้างอิงตามแนวคิดพื้นถิ่น แต่ในรายละเอียดอาคารกลับพบว่ามีทักษะร่วมสมัยที่เกิดขึ้น อาทิ การใช้บานหน้าต่างๆที่ยกขึ้นปิดเปิดได้ ทำให้โถงระเบียงหน้าบ้านกลายเป็นโถงเปิดและห้องได้ นอกจากนี้ยังพบองค์ประกอบการตกแต่งคิ้วอาคารและกรอบทางเดินภายในด้วยแผ่นไม้แกะสลักที่เป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมขนมปังขิง เทคนิคของช่างพม่าที่วางไม้ตกแต่งพื้นที่ผนังภายในอาคารมากมาย ทำให้อาคารหลังนี้มีความร่วมสมัยทั้งความเป็นตะวันตกและพื้นถิ่น