ในปี พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) หมอชีค หรือ นายแพทย์มาเรียน อะลอนโซ ชีค (Marian Alonzo Cheek) ได้เดินทางมาสยามเพื่อเข้าร่วมทำงานกับคณะมิชชั่นนารีเพรสไบทีเรียนในเชียงใหม่ และทำงานเป็นมิชชั่นนารีทางการแพทย์ ในปี พ.ศ. 2418 (ค.ศ. 1875) ในเวลาไม่กี่เดือนหลังจากเขาได้เดินทางมาสู่สยามหมอหนุ่มวัยยี่สิบเอ็ดได้พบรักกับซาราห์ เอ. บรัดเลย์ ลูกสาวของหมอแดน บีช บรัดเลย์ และได้แต่งงานกันในที่สุด (จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2552 หน้า 116) ในปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) หมอชีคตัดสัมพันธ์กับงานเผยแพร่ศาสนาในฐานะมิชชั่นนารี และในปีต่อมา พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) เขาได้ลาออกจากการเป็นมิชชั่นนารีเพรสไบทีเรียน
ในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) หมอชีคเซ็นสัญญาเป็นเอเย่นต์ประจำเชียงใหม่เพื่อส่งไม้สักให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัด (Bristowe, 1976 หน้า 71) แต่ในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ชาร์ล สจ๊วต เลคกี้ (Charles Stewart Leckie) ผู้จัดการใหญ่บริษัทบอร์เนียวจำกัดที่กรุงเทพฯพบว่าหมอชีคได้กู้ยืมเงินของบริษัทไปลงทุนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ผลการทำงานด้านการขยายตลาดไม้สักของหมอชีคไม่มีความบกพร่อง เลคกี้ได้ตัดสินใจเดินทางมาเชียงใหม่และเมื่อได้เห็นการใช้ชีวิตของหมอชีคที่เชียงใหม่ทำให้เขาระแวงว่าหมอชีคอาจนำเงินทุนที่กู้ยืมมาจากบริษัทบอร์เนียวจำกัดมาใช้จ่ายเพื่อชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือย เลคกี้จึงได้ยื่นข้อเสนอให้หมอชีคชำระหนี้สินทั้งหมดหรือไม่ก็ชำระหนี้ส่วนใหญ่ให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัดก่อนที่จะมีการต่อสัญญาในปีถัดไป และทันทีที่หมอชีคไม่ต่อสัญญาทำงานให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัด เขาก็ได้ทำสัญญาเช่าสัมปทานป่าไม้เป็นเวลา 10 ปี และอีกไม่กี่เดือนต่อมารัฐบาลสยามได้อนุมัติเงินกู้จำนวน 800,000 บาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ทำให้หมอชีคสามารถชำระหนี้ให้กับบริษัทบอร์เนียวจำกัดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หมอชีคไม่มีค่าจ้างประจำจากการเป็นเอเย่นต์ซื้อขายไม้ให้กับรัฐบาลสยาม แต่เขาได้รับผลประโยชน์จากการปันผลกำไรถึงสองในสามจากกำไรสุทธิที่ได้จากการค้าไม้สักในแต่ละปี ทำให้หมอชีครุ่งโรจน์กับชีวิตธุรกิจการค้าไม้สักกับรัฐบาลสยาม ในขณะเดียวกันหมอชีคในวัยสามสิบหกปีก็หันมาใช้ชีวิตเยี่ยงเศรษฐีที่นิยมความสำเริงสำราญในเชียงใหม่ กับธุรกิจค้าไม้ในเชียงใหม่ที่เขาเป็นผู้ผูกขาดแต่ผู้เดียว (Bristowe, 1976 หน้า 76)
ในช่วงปี พ.ศ. 2432 (ค.ศ. 1889) ในระหว่างที่ธุรกิจการค้าไม้สักของหมอชีคที่เชียงใหม่กำลังรุ่งโรจน์ จิตใจของหมอชีคเริ่มแปรเปลี่ยนเมื่อเขารู้ตัวว่ามีทั้งเงินและอำนาจเพียงพอที่จะทำทุกอย่างตามความต้องการของตนเอง หมอชีคได้สร้างฮาเรมของเขาซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังวัดมหาวัน เชียงใหม่ โดยมีการสร้างบ้านหลายหลังในบริเวณเดียวกันโดยบ้านเหล่านั้นสร้างด้วยไม้สักและมุงหลังคาด้วยใบตองตึงหรือใบของไม้สัก นอกจากโนจาซึ่งเป็นสมาชิกคนแรกของฮาเร็ม โนจาสาวสวยคนพื้นเมืองคนนี้หมอชีคได้รับพระราชทานจากเจ้าหลวงเชียงใหม่ (เจ้าอินทวิชยานนท์) เมื่อครั้งเขาสามารถถวายการรักษาให้กับเจ้าแม่รินคำที่บรรดาหมอพื้นเมืองทั้งหลายไม่สามารถรักษาได้ นอกจากนั้นหมอชีคยังมีสาวๆพื้นเมืองหน้าตาดีอีกหลายคนที่พ่อแม่พาตัวมาแลกกับควายสักคู่ ซึ่งบรรดาสาวๆทั้งหลายต่างก็พึงพอใจกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ได้รับจากเสื้อผ้า เงิน และแม้แต่เพชรพลอยที่หมอชีคได้มอบให้หากพวกเธอมีความประพฤติที่ดีตามความต้องการของเขา (Bristowe, 1976 หน้า 83)
ในขณะที่ชีวิตส่วนตัวของเขาเละเทะยุ่งเหยิง ธุรกิจต่างๆของเขาก็เริ่มมีปัญหา หลังจากการสั่งซื้อเครื่องจักรจากอเมริกาเพื่อใช้สำหรับโรงเลื่อยของเขาถูกโกงและไม่ดำเนินตามสัญญาส่งผลให้ธุรกิจโรงเลื่อยของเขาอยู่ในสถานะลำบาก ในช่วงเดียวกันเขาได้ก่อสร้างบ้านสามชั้นที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังในรูปแบบอาณานิคมอังกฤษและสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกขึ้นในเชียงใหม่ซึ่งเขาได้สั่งซื้อเครื่องมือและนำวิศวกรจากอเมริกาเพื่อดำเนินการดังกล่าว ทำให้เขาต้องใช้จ่ายเงินไปจำนวนมาก ทั้งบ้านและสะพานได้ก่อสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) ซึ่งสะพานไม้สักที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘ขัวกุลา’ ซึ่งใช้การมาได้อีกสี่สิบกว่าปีและต่อมาสะพานถูกขอนไม้ซุงจำนวนมากที่ถูกล่องมาตามแม่น้ำปิงชนทำให้สะพานพังลงไป นอกจากนั้นเรือกลไฟลำใหม่ของหมอชีคที่ชื่อว่า ‘แม่ปิง’ ที่เขาสั่งเข้ามาเพื่อใช้ลากเรือพ่วงบรรทุกสินค้าระหว่างปากน้ำโพกับระแหงได้จมลงในแม่น้ำ (Bristowe, 1976 หน้า 78; จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2542 หน้า 118)
ปัญหาด้านธุรกิจและปัญหาสุขภาพ ประกอบกับในปีนั้น พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) ฝนแล้งทำให้น้ำในแม่น้ำแห้งขอด ทำให้หมอชีคไม่สามารถล่องไม้ซุงจำนวนหลายหมื่นต้นไปตามแม่น้ำได้ จากผลดังกล่าวทำให้เขาตกอยู่ในสภาพขาดความคล่องทางการเงิน และผลกำไรจากการดำเนินธุรกิจก็มีเพียงแค่สามารถชำระดอกเบี้ยที่คั่งค้างกับบริษัทบอร์เนียวจำกัดเท่านั้น ทำให้เขาไม่สามารถชำระดอกเบี้ยและเงินกู้ที่ได้กู้ยืมมาจากรัฐบาลสยาม ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบดูแลกิจการป่าไม้ให้กับรัฐบาลสยามไม่พึงพอใจกับผลการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของเขา ส่งผลให้รัฐบาลสยามส่งใบทวงหนี้และคาดคั้นให้เขาชำระหนี้ที่คั่งค้างทั้งหมดคืนโดยเร็ว (Bristowe, 1976 หน้า 78) หมอชีคพยายามอธิบายว่าเพราะฝนแล้งทำให้เขาไม่สามารถขนส่งท่อนซุงหลายหมื่นต้นจากป่ามาตามลำธารเพื่อล่องไม้ซุงไปตามแม่น้ำมายังกรุงเทพฯได้ เขาจึงขอประนอมหนี้โดยขอยืดเวลาชำระหนี้ออกไป แต่รัฐบาลสยามไม่ยินยอม หมอชีคได้พยายามหาเงินมาชำระหนี้ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2435 (ค.ศ. 1892) หมอชีคได้พยายามขายไม้ซุงจำนวนหนึ่ง แต่รัฐบาลสยามได้ยับยั้งไม่ให้มีการดำเนินการ โดยเห็นว่าซุงจำนวนดังกล่าวน่าจะเป็นของรัฐบาลสยามเนื่องจากหมอชีคยังมีภาระหนี้สินผูกพันกับรัฐบาล หมอชีคประท้วงรัฐบาลสยามอย่างรุนแรงและเตรียมฟ้องกลับรัฐบาลสยามในข้อหาละเมิดสิทธิและทรัพย์สินของตน โดยหมอชีคได้จ้าง อี บี มิเชล (E.B. Michell) ทนายความชาวอังกฤษในกรุงเทพฯ เพื่อเตรียมสำนวนส่งฟ้องตรงไปยังรัฐบาลอเมริกันเพื่อใช้มาตรการให้รัฐบาลสยามจ่ายค่าเสียหายให้แก่เขาในจำนวน 1,607,330 รูปี ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าหนี้สินที่เขามีต่อรัฐบาลสยาม (Bristowe, 1976 หน้า 80) ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) รัฐบาลสยามได้ประกาศอายัดไม้และเครื่องมือในการทำไม้รวมถึงช้างทั้งหมดที่หมอชีคมีอยู่ (Bristowe, 1976 หน้า 81) ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2437 (ค.ศ. 1894) อี วี เคลเล็ทท์ (E.V. Kellett) ทนายความชาวอเมริกันได้เดินทางจากกรุงเทพฯมาถึงเชียงใหม่เพื่อมาเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ให้กับหมอชีคและมารับตำแหน่งผู้ช่วยกงสุลอเมริกันที่เชียงใหม่ (จิระนันท์ พิตรปรีชา, 2542 หน้า 160)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) หมอชีคป่วยหนัก อี วี เคลเล็ทท์ และหมอโทมัสได้ช่วยนำตัวเขาไปยังกรุงเทพฯ เพื่อลงเรือกลับบ้านเกิดที่อเมริกา แต่เมื่อเรือออกจากปากอ่าวไทยไปถึงเกาะสีชังในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) หมอชีคก็เสียชีวิต งานศพของหมอชีคที่กรุงเทพฯจัดได้ว่าเป็นงานศพชาวต่างชาติที่มีผู้มาร่วมงานจำนวนมากที่สุดที่เคยปรากฏในสยาม โดยมี ดร. เฮย์เวิร์ด เฮย์ส ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีงานศพ ส่วนการฟ้องร้องของหมอชีคกับรัฐบาลสยามยังดำเนินการต่อไป และอีกสามปีต่อมาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นกงสุลใหญ่และหัวหน้าผู้พิพากษาชาวอังกฤษประจำเซี่ยงไฮ้และญี่ปุ่นได้ตัดสินให้รัฐบาลสยามชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งหมดเจ็ดแสนบาท ทั้งนี้เนื่องจากจากการอายัดทรัพย์ของหมอชีคจากเหตุที่เขาไม่จ่ายดอกเบี้ยนั้นไม่สามารถกระทำได้ (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 62) ซึ่งเงินดังกล่าวซาราห์ ชีค ภรรยาของเขาพร้อมบุตรทั้งสี่คนเป็นผู้รับ
บ้านริมปิง
บ้านหมอชีค ถูกสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันตก โดยสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) เป็นบ้านสามชั้นที่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลังในรูปแบบอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษที่มีขนาดใหญ่โตหรูหราที่สุดในเมืองเชียงใหม่ในเวลานั้น บ้านหลังนี้หันหน้าสู่แม่น้ำปิง และมีบันไดขึ้นลงทางด้านข้างของอาคาร ชั้นล่างเป็นห้องโถงใหญ่ ห้องรับแขก และห้องครัว ส่วนชั้นบนเป็นห้องพักขนาดใหญ่จำนวน 7 ห้อง มีมุขที่หลังคาคล้ายห้องใต้หลังคาแบบจั่ว ฝาบ้านใช้ไม้สักแผ่นตีเป็นเกล็ดทับซ้อนกันไป หน้ามุขมีลานสนามหญ้ากว้าง บ้านหลังนี้สร้างเสร็จพร้อมกับ ‘ขัวกุลา’ สะพานข้ามน้ำปิงแห่งแรกในเชียงใหม่
หมอชีคได้อาศัยที่บ้านหลังนี้เป็นเวลา 5 ปี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิต หลังจากหมอชีคได้เสียชีวิตแล้ว ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2438 (ค.ศ. 1895) กงสุลอเมริกันได้แต่งตั้งให้ อี วี แคลเล็ท (E.V. Kellett) รองกงสุลอเมริกันประจำเชียงใหม่เป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติของเขา ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 9 ได้ซื้อบ้านและที่ดินของหมอชีคริมฝั่งแม่น้ำปิงติดกับ ‘ขัวกุลา’ ในราคา 18,000 รูปี (Macfie, 1987) ซึ่งทำให้บ้านหลังนี้ถูกเรียกว่า ‘คุ้มหลวงริมปิง’ เพราะเป็นคุ้มหลวงของเจ้าแก้วนวรัฐ
ต่อมาเจ้าแก้วนวรัฐได้ปรับปรุงบ้านหลังนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ย้ายบันไดขึ้นลงมาอยู่ด้านหน้า ทำให้ทางขึ้นลงอาคารหรูหราทันสมัยยิ่งขึ้น รูปคุ้มหลวงริมปิงที่ปรับปรุงแล้วนั้นเข้าใจว่าคงถ่ายเมื่อครั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จราชดำเนินเยือนเชียงใหม่ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2448 (ค.ศ 1905) สังเกตได้จากธงช้างเผือกที่ประดับไว้ตลอดระเบียงคุ้มทั้งด้านบนและด้านล่าง พร้อมทั้งมีการติดป้ายเฉลิมพระเกียรติ “ขอจงทรงพระเจริญ” ประดับไว้ที่หน้ามุขด้านหน้าของคุ้มหลวง
เจ้าแก้วนวรัฐได้อาศัยอยู่ที่ ‘คุ้มหลวงริมปิง’ เป็นเวลาประมาณ 43 ปี และเมื่อเจ้าแก้วนวรัฐถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2482 (ค.ศ. 1939) ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เจ้าบัวทิพย์ บุตรีเจ้าแก้วนวรัฐได้ขายคุ้มหลวงแห่งนี้ให้กับนายชู โอสถาพันธุ์ (เต๊กซอ แซ่โอ้ว) พ่อค้าคนจีนในราคา 150,000 บาท (อนุ เนินหาด, 2550) หลังจากได้กรรมสิทธิ์แล้วนายชู โอสถาพันธุ์ ได้เข้าอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ โดยเรียกว่า ‘บ้านคุ้ม’ ต่อมาในปี พ.ศ. 2499 (ค.ศ. 1956) นายชู โอสถาพันธุ์ ได้รื้อบ้านคุ้มของเขาเพื่อสร้างตลาดนวรัฐ โดยตั้งชื่อตลาดเพื่อเป็นเกียรติแก่อดีตเจ้าของอาคารและที่ดินทั้งหมดของตลาด แต่ในวันฉลองการเปิดตลาดนวรัฐในปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) ได้มีคนขว้างระเบิดใส่นายนายชู โอสถาพันธุ์ ทำให้เขาถึงแก่ความตาย (อนุ เนินหาด, 2550 หน้า 135)
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านหมอชีค
จากการทบทวนภูมิหลังของหมอชีค ในฐานะตัวแทนธุรกิจป่าไม้ของบริษัทบอร์เนียวจำกัดที่เชียงใหม่ ที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับอังกฤษที่เกือบทั้งหมดมาจากพม่า รวมถึงฐานะร่ำรวยของหมอชีค มีอิทธิพลต่อการสร้างบ้าน 3 ชั้นด้วยไม้สักทั้งหลัง สะท้อนการเป็นอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษ จากเรือนไม้ที่มีหลังคาจั่วคลุมพื้นที่แต่ละส่วนที่เป็นอิทธิพลจากแนวคิดบ้านในรูปแบบวิคตอเรียน แต่มีการวางหลังคาจั่วอาคารซ้อนชั้นและการวางมีบันไดนอกอาคารเชื่อมระหว่างระดับชั้นที่หนึ่งถึงชั้นที่สอง สะท้อนอิทธิพลของอาคารพื้นถิ่นของพม่าได้ดี นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของการตกแต่งหน้าบันอาคารซึ่งสะท้อนถึงองค์ประกอบในอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษในอินเดียอีกด้วย องค์ประกอบเหล่านี้จึงเป็นการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษที่มาจากพม่าและอินเดียได้ดี
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
การวางผังบริเวณอาคารหลังนี้ เอาด้านสกัดหรือหน้าจั่วอาคารวางเป็นด้านหน้า ทำให้สะท้อนถึงความเป็นอาคารส่วนบุคคล ซึ่งความน่าสนใจอยู่ที่อาคารหลังนี้ต้องการสะท้อนความโอ่อ่าร่ำรวยผ่านองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมมากมาย โดยทำให้อาคารมีการตกแต่งหรูหราและเกินความจำเป็นซึ่งสะท้อนความร่ำรวยของเจ้าของบ้าน ผังบริเวณเป็นการวางผังบ้านเดี่ยววางตัวบนที่ดิน โดยวางตัวอาคารขนานไปกับแนวแม่น้ำปิง ซึ่งตัวอาคารและที่ดินนั้นมีอาณาเขตกว้างใหญ่จากริมแม่น้ำปิงในตำแหน่งตลาดนวรัฐในปัจจุบันไปถึงบริเวณถนนราชวงศ์
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
ในการวางผังอาคาร พบว่าในทุกๆพื้นที่อาคารคิดเป็นห้องแยกรูปทรงกันอย่างชัดเจน ทำให้เกิดรูปทรงของห้องขึ้นมารับกับหลังคาจั่วของพื้นที่ใช้สอยอาทิ ห้องพักหลัก หัองพักรอง โถงบันได พื้นที่เหล่านี้มีช่วงเสาและหลังคาของตัวเอง และมีการใช้หลังคาร่วมกับพื้นที่อาคารหลักที่เป็นโครงสร้างเสาหลักของโครงการ ทำให้เกิดการประกอบทรงหลังคาหลายชั้น กระบวนการแนวคิดอาคารแบบนี้เป็นแนวคิดตามสถาปัตยกรรมรูปแบบวิคตอเรียน แต่การออกแบบการเชื่อมโยงพื้นที่แต่ละส่วนของอาคารนั้นใช้ระเบียงและโถงบันไดที่มีลักษณะอาคารเปิด ทำให้รูปลักษณ์มีแนวคิดอาคารพื้นถิ่นเข้าไปใช้ออกแบบ
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
องค์ประกอบของอาคารที่น่าสนใจคือ การใช้หลังคาจั่วซ้อนชั้น ซึ่งเป็นการตกแต่งที่มีอิทธิพลจากช่างฝีมือพม่าที่มีประสบการณ์ในการสร้างอาคารสถาปัตยกรรมอาณานิคมในพม่า ซึ่งเป็นอาณานิคมของอังกฤษ รวมไปถึงการตกแต่งหน้าบันอาคารในรูปแบบของงานแกะสลักไม้ และการแต่งขอบคิ้วของอาคารที่ทำให้เห็นได้ชัดว่ามีอิทธิพลจากคนในอาณานิคมอังกฤษ อาทิ ช่างพม่า และอินเดีย