สืบเนื่องจากกฏหมายจารีตของล้านนาระบุว่าภูเขาและป่าไม้ทั้งหมดเป็นของเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) กัปตันเบิร์นพ่อค้าไม้ชาวอังกฤษซึ่งเดิมทำธุรกิจป่าไม้อยู่ที่มะละแหม่งได้ขยายกิจการข้ามเขตแดนเข้ามาและขอเช่าป่าไม้ในเขตพื้นที่ของพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 6 แต่ต่อมาเจ้าหลวงเชียงใหม่ได้อนุญาตให้บริษัทอื่นเข้ามาเช่าพื้นที่ป่าไม้ทำให้เกิดปัญหาพื้นที่สัมปทานป่าไม้ทับซ้อนกัน เบิร์นได้นำเรื่องนี้ไปร้องทุกข์กับกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ อีกทั้งยังกล่าวหาว่าคนงานชาวพม่าของเขาถูกคนของเจ้าหลวงทำร้ายบาดเจ็บและล้มตายไปหลายราย ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2409 (ค.ศ. 1866) กงสุลน็อกซ์ได้เสนอทางเลือกให้กับรัฐบาลสยามเพื่อบังคับพระเจ้ากาวิโลรสยกเลิกสัญญากับผู้เช่าป่ารายอื่นๆ ไม่เช่นนั้นกงสุลน็อกซ์จะเจรจากับพระเจ้ากาวิโลรสด้วยตนเองเสมือนเป็นเจ้าเมืองอิสระที่สยามไม่สามารถควบคุมได้ (Bristowe, 1976 หน้า 62)
ข้อเสนอของกงสุลน็อกซ์ได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับรัฐบาลสยาม ซึ่งอาจเป็นข้ออ้างของอังกฤษเพื่อต้องการขยายอิทธิพลจากเขตแดนอาณานิคมพม่าเข้ามายังสยาม อีกทั้งหากสยามเข้าไปบีบคั้นพระเจ้ากาวิโลรส เจ้าหลวงเชียงใหม่มากเกินไปก็อาจทำให้เชียงใหม่ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่อสยามอีกต่อไป ซึ่งอาจทำให้หัวเมืองในล้านนาอื่นๆกระทำตาม (Bristowe, 1976 หน้า 62) หากแต่ว่าพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้ถึงแก่พิราลัยในปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) เมื่อครั้งเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมาให้ปากคำกรณีการเสียชีวิตของคนพื้นเมือง 2 คน ที่เข้ารีตศาสนาคริสต์และพบว่าพระองค์เป็นผู้บงการ เจ้าหลวงชราวัย 70 ปี ป่วยหนักขณะเดินทางกลับเชียงใหม่และได้ถึงแก่พิราลัยก่อนถึงตัวเมืองเชียงใหม่เพียงสองสามไมล์เท่านั้น (Bristowe, 1976 หน้า 58-60; จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล, 2560) และต่อมาพระเจ้าอินทวิชยานนท์ได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ เป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ 7
เมื่อครบกำหนดที่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ต้องเดินทางมาถวายบรรณาการที่กรุงเทพฯ จึงได้มีการเจรจากรณีพิพาทเกี่ยวกับการให้สัมปทานป่าไม้ทับซ้อน ซึ่งผลของการเจรจาไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของกงสุลน็อกซ์แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลอังกฤษที่อินเดียจะเป็นผู้หาหนทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเสียเอง จากการเสด็จไปปฏิบัติภารกิจที่อินเดียของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในช่วงวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) ถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2414 (ค.ศ. 1871) (Bristowe, 1976, หน้า 62; กัณฐิกา ศรีอุดม, 2546) หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) รัฐบาลสยามและรัฐบาลอังกฤษที่อินเดียได้ลงนามในสนธิสัญญาเชียงใหม่ (The Treaty of Chiengmai) สืบเนื่องจากการฟ้องร้องเกี่ยวกับป่าไม้ระหว่างคนในบังคับอังกฤษกับเจ้าหลวงเชียงใหม่และเจ้านายคนอื่นๆ รวมถึงเพื่อป้องกันปัญหาการปล้นสดมภ์ตามชายแดนเชียงใหม่ โดยอังกฤษยินยอมให้คนเอเชียในบังคับอังกฤษที่มีคดีแพ่งขึ้นศาลระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นที่เชียงใหม่ แต่มีข้อแม้ว่าในกรณีที่คนในบังคับอังกฤษยินยอมเท่านั้น หากไม่ยินยอมต้องส่งคดีนั้นให้แก่กงศุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ (รัตนาภรณ์ เศรษฐกุล, 2524 หน้า 107) และให้รัฐบาลอังกฤษในอินเดียสามารถแต่งตั้งผู้แทนในเชียงใหม่ได้ เมื่อไม่เป็นไปตามแผนกงสุลน็อกซ์ได้อุทธรณ์ให้มีการแต่งตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ และเพื่อขจัดข้อขัดแย้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ได้ออกพระราชกำหนดว่าหากจะมีการทำสัญญาเช่าป่าไม้กับเจ้าหลวงเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในกรุงเทพฯเสียก่อน ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองใจต่อเจ้าหลวงเชียงใหม่ในการถูกแทรกแซงอำนาจเป็นอย่างมาก ในขณะที่กงสุลน็อกซ์ก็แสดงความวิตกกังวลว่าสัญญาเช่าป่าไม้ของคนในบังคับอังกฤษจะถูกปฏิเสธจากเจ้าหลวงเชียงใหม่ ถึงแม้สนธิสัญญาเบาริ่งจะระบุว่าการเช่าที่ดินในสยามจะสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีตราประทับรับรองจากกงสุลอังกฤษก็ตาม นอกจากนั้นกงสุลน็อกซ์ยังผลักดันอย่างต่อเนื่องให้มีการแต่งตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 62)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 (ค.ศ. 1883) รัฐบาลอังกฤษที่อินเดียและรัฐบาลสยามได้ลงนามในสนธิสัญญาเชียงใหม่ครั้งที่ 2 แทนฉบับเดิมที่หมดอายุลง โดยมีเนื้อหาสาระคล้ายคลึงกับสนธิสัญญาฉบับเดิม ส่วนที่แตกต่างคือประเด็นว่าด้วยอำนาจของศาลต่างประเทศ และการแต่งตั้งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ โดยรองกงสุลไม่สามารถตั้งศาลพิเศษโดยใช้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับคนในบังคับอังกฤษได้ และหากคนในบังคับอังกฤษถูกกล่าวหาก็ต้องมีการพิจารณาคดีที่ศาลระหว่างประเทศที่เชียงใหม่ อย่างไรก็ตามรองกงสุลอังกฤษสามารถเข้าร่วมพิจารณาคดีและให้คำแนะนำในศาลได้ และหากผู้ถูกกล่าวหาไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศที่เชียงใหม่ก็สามารถยื่นคำร้องกับศาลอุทธรณ์ที่กรุงเทพฯได้ โดยมีกงสุลใหญ่อังกฤษร่วมพิจารณากับผู้พิพากษาไทย (Bristowe, 1976 หน้า 63)
รองกงสุลอังกฤษคนแรกที่ถูกคัดเลือกโดยกงสุลน็อกซ์ให้มาประจำที่เชียงใหม่คือ เอ็ดเวิร์ด เบลนโคว์ กูลด์ (Edward Blencowe Gould) ที่มีรูปร่างผอมสูงไว้หนวดดำเรียวและมีผมสีเทา ในช่วง 11 ปีที่ทำงานในหน้าที่ล่ามในสถานกงสุลอังกฤษที่กรุงเทพฯ กูลด์ได้รับการอุปถัมภ์จากกงสุลน็อกซ์เป็นอันมากจึงทำให้เขาถูกมองว่าหยิ่งยโสและเคร่งครัดไม่มีความยืดหยุ่น กูลด์เดินทางบนหลังช้างจากพม่ามายังเชียงใหม่ โดยมีช้างอีกสามตัวบรรทุกสัมภาระของเขาพร้อมกับผู้อารักขา พร้อมทั้งมีทหารกุรข่าสิบสองคนในชุดเครื่องแบบพร้อมติดอาวุธปืนสั้น กูลด์มาถึงเชียงใหม่ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) เขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหลวงเชียงใหม่อย่างเย็นชาซึ่งแตกต่างจากการต้อนรับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ที่มีความอ่อนโยนและเป็นที่นิยมนับถือ ทั้งนี้ราชสำนักสยามส่งกรมหลวงพิชิตฯ มาเป็นข้าหลวงเพื่อกำกับดูแลปัญหาต่างๆในเชียงใหม่ รวมถึงการจัดการศาลต่างประเทศ และการจัดระเบียบการปกครองใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 63)
สำหรับกูลด์เขามองว่าเจ้าหลวงเชียงใหม่เป็นคนอ่อนแอ เจ้าอารมณ์ เหี้ยมโหดกับผู้ที่ขัดขวาง ทุจริต แสวงหาความสุข และเป็นนักพนัน ส่วนกูลด์ในสายตาเจ้าหลวงคือผู้ที่ท้าทายอำนาจของเจ้าหลวง เป็นคนอยู่ไม่นิ่งและชอบข่มขู่ ซึ่งทำให้รัฐบาลสยามจำเป็นต้องแต่งตั้งข้าหลวงมาคอยกำกับดูแล รวมถึงการตั้งศาลแบบใหม่ที่คนในบังคับอังกฤษที่ถูกฟ้องร้องคดีต่างๆต้องขึ้นศาลระหว่างประเทศแทนที่จะเป็นอำนาจการตัดสินของเจ้าหลวง (Bristowe, 1976 หน้า 65)
การจดทะเบียนคนในบังคับอังกฤษและการร่วมฟังการฟ้องร้องต่างๆในศาลระหว่างประเทศทำให้กูลด์ต้องทำงานหนักอยู่หลายเดือน และในต้นปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) เขาก็สามารถติดตั้งระบบไปรษณีย์โทรเลขระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ผ่านมะละแหม่งได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบสื่อสารที่แต่เดิมต้องผ่านระบบการขนส่งทางน้ำอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้การส่งจดหมายในแต่ละครั้งล่าช้ากินเวลาหลายเดือน ระบบไปรษณีย์โทรเลขทำให้เชียงใหม่ใกล้ชิดกับกรุงเทพฯมากยิ่งขึ้น และในปีต่อมาระบบไปรษณีย์โทรเลขได้พัฒนาผ่านระแหง (Bristowe, 1976 หน้า 66)
ความหมางใจที่นำไปสู่ข้อขัดแย้งที่ร้ายแรงตามมา สืบเนื่องจากคนในบังคับอังกฤษคนหนึ่งไปฟ้องกูลด์ว่าเมียและลูกของเขาถูกเจ้าหลวงนำไปตีตรวนล่ามโซ่ทั้งที่ไม่มีความผิด เพียงเพราะนางต้องการจะอยู่ร่วมกับเขาอย่างมีความสุข ทั้งนี้เพราะมีเจ้านายคนหนึ่งอ้างว่านางเป็นข้าทาสในคุ้มของเธอ กูลด์ได้ไปวิงวอนเจ้านายคนนั้นแต่ไม่เป็นผล กูลด์ตัดสินใจไม่รีรอที่จะปกป้องสองแม่ลูกดังกล่าว เขาได้เขียนจดหมายถึงกรมหลวงพิชิตฯ ข้าหลวงสยามเพื่อให้เห็นด้วยกับเขาว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และในเวลา 20.30 นาฬิกาของคืนนั้น กูลด์ก็ได้ไปยังคุ้มหลวงเพื่อต้องการพบกับข้าหลวงที่นั่น เมื่อเขาเดินไปถึงหอกลางก็ไม่พบผู้ใดอยู่ในนั้น กูลด์จึงเดินต่อเข้าไปยังเขตหวงห้ามในคุ้มหลวงและพบว่าเจ้าหลวงกำลังนั่งเล่นการพนันอยู่กับเจ้านางหลายคนในหอกลางสวน กูลด์ทรุดตัวไปนั่งข้างๆเจ้าหลวงและอธิบายเกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่มีต่อสองแม่ลูก ในตอนแรกเจ้าหลวงได้ปิดบังความโกรธเอาไว้แต่ต่อมาเจ้าหลวงก็ได้ตอบโต้อย่างเผ็ดร้อนด้วยเสียงอันดังเมื่อกูลด์เริ่มสาธยายข้อกฏหมายให้ฟัง ในขณะที่กูลด์พยายามที่จะอธิบายวัตถุประสงค์ของเขาแต่ด้วยความไม่รอบคอบกูลด์ได้แตะหัวเข่าเจ้าหลวง ทั้งนี้การแตะต้องเนื้อตัวของเจ้าหลวงถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เจ้าหลวงจึงหันไปเล่นการพนันต่อพร้อมทั้งพูดบ่นพึมพำกับเจ้านางทั้งหลาย ในขณะเดียวกันก็ได้ส่งคนไปเชิญกรมหลวงพิชิตฯ ให้มาที่คุ้มหลวง (Bristowe, 1976 หน้า 67)
เมื่อกรมหลวงพิชิตฯ มาถึงก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าข้อกฏหมายของกูลด์นั้นถูกต้อง และขอประนีประนอมเพื่อรักษาหน้าเจ้าหลวงต่อหน้าญาติผู้หญิง และอีกด้านหนึ่งก็เตือนกูลด์ให้ยอมรับในประเพณีและการปฏิบัติต่อเจ้านายล้านนา ในวันรุ่งขึ้นเจ้าหลวงได้อนุญาตให้ถอดโซ่ล่ามสองแม่ลูกและศาลก็พิพากษาปล่อยสองแม่ลูกในวันต่อมา เจ้าหลวงได้ร้องเรียนไปยังกรุงเทพฯ ซึ่งรัฐบาลสยามได้ส่งพระยามนตรีสุริยวงศ์ (ชื่น บุนนาค) และกงสุลใหญ่อังกฤษจากกรุงเทพฯ อี เอ็ม ซาโธว์ (E.M. Satow) เพื่อสอบสวนกรณีดังกล่าว โดยทั้งสองได้เดินทางมาถึงเชียงใหม่ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) กงสุลใหญ่ซาโธว์ เป็นคนฉลาดและมีไหวพริบ ซึ่งต่อมาไม่นานเขาก็สามารถสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเจ้าหลวงเชียงใหม่ ซึ่งเจ้าหลวงเชียงใหม่ก็ตอบแทนไมตรีต่อเขาหลายครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อซาโธว์ได้รับเชิญไปร่วมรับประทานอาหารเย็นที่คุ้มหลวง เขาบันทึกว่าเมนูอาหารที่อร่อยในมื้อนั้นคือ ‘หนังปอง (หนังควาย ที่นำมาทอดกรอบ เพื่อใช้รับประทานร่วมกับอาหารชนิดอื่น) กับน้ำเมี่ยง (อาหารที่ใช้หัวน้ำเมี่ยง ซึ่งได้จากน้ำที่นึ่งเมี่ยงมาเป็นส่วนผสม)’ (Satow, 2000 หน้า 150; Bristowe, 1976 หน้า 67)
ซาโธว์ช่วยกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหลวงกับรองกงสุลกูลด์ไว้ได้ และได้ต่อว่ากูลด์ในการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อเจ้าหลวง หลังจากนั้นซาโธว์ได้สั่งย้ายกูลด์กลับกรุงเทพฯ โดยกูลด์ได้เดินทางออกจากเชียงใหม่ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) หลังจากทำหน้าที่รองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ได้สองปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) กูลด์ได้เดินทางไปรับตำแหน่งกงสุลอังกฤษที่เมืองพอร์ตซาอิด (Port Said) ประเทศอียิปต์ และตำแหน่งกงสุลใหญ่ประจำเมืองอเล็กซานเดรียในเวลาต่อมา กูลด์เป็นคนแรกที่นำแมวไทยไปยุโรป โดยเขาได้นำแมวไทยสองตัวไปให้ลิเลียน เจน กูลด์ น้องสาวของเขา ในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) และต่อมาลิเลียนได้ตั้งสมาคมแมวสยาม และได้จัดแสดงแมวสยามที่คริสตัลพาเลซ ลอนดอน ในปี พ.ศ. 2428 (ค.ศ. 1885) (Betgem, 2019) หลังจากนั้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) ดับเบิ้ลยู เจ อาร์เชอร์ (W.J. Archer) ได้มารับตำแหน่งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่จนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) (Bristowe, 1976 หน้า 68; Macfie, 1987) และในเดือนมกราคม พ.ศ. 2439 (ค.ศ. 1896) ตำแหน่งรองกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ก็ได้รับการปรับขึ้นเป็นกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ (Macfie, 1987)
ในเวลาต่อมาสถานกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ได้ปิดตัวลง ทั้งนี้เนื่องจากไม่มีธุรกิจป่าไม้ให้คอยดูแล ไม่มีคดีฟ้องร้องของคนในบังคับอังกฤษให้พิจารณา และไม่มีประเทศอาณานิคมฝรั่งเศสให้ดูแลความเคลื่อนไหวอีกต่อไป และในปี พ.ศ. 2521 (ค.ศ. 1978) รัฐบาลอังกฤษได้ขายอาคารสำนักงานกงสุลอังกฤษ บ้านพักกงสุลและที่ดินจำนวน 7 ไร่ให้กับนายศิริชัย บูลกุล ทายาทเจ้าของห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง ในราคา 17 ล้านบาท หลังจากขายสถานกงสุลอังกฤษให้เอกชนแล้วได้มีการย้ายรูปปั้นพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่เคยตั้งไว้ตรงประตูทางเข้าสถานกงสุลอังกฤษไปไว้ที่สุสานชาวต่างชาติ และต่อมาในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ได้มีการขายต่อที่ดินและอาคารกงสุลให้กับนายสุระ จันทรศรีชวาลา ในราคา 100 ล้านบาท (ศิริพรรณ วันดี, 2544) ในเวลาต่อมาได้มีการปรับปรุงพื้นที่และอาคารบ้านพักกงสุลอังกฤษ เพื่อเปิดดำเนินการในชื่อโรงแรมเดอะเจดีย์ (The Chedi Chiang Mai) ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) และในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ได้มีการปรับปรุงพื้นที่และอาคารดังกล่าวใหม่อีกครั้งและดำเนินการภายใต้ชื่อโรงแรมอนันตรา เชียงใหม่ มาจนถึงปัจจุบัน
บ้านพักกงสุลอังกฤษ
เมื่อเอ็ดเวิร์ด เบลนโคว์ กูลด์ มารับตำแหน่งรองกงสุลอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2427 (ค.ศ. 1884) เจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้ยกที่ดินเนื้อที่ 7 ไร่ ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านทิศตะวันตก พร้อมบ้านพักให้เขาได้พักอาศัยตลอดระยะเวลาทำงาน 2 ปีที่เชียงใหม่ (Bristowe, 1976 หน้า 64; Betgem, 2019) และเมื่อ ซี อี ดับเบิลยู สตริงเกอร์ (C.E.W. Stringer) มารับตำแหน่งกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ เขาได้สร้างอาคารสำนักงานกงสุลเชียงใหม่ขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) (บุญเสริม ศาสตราภัย, มปป)
ต่อมาเมื่อ วิลเลี่ยม อัลเฟรด แร วูด (William Alfred Rae Wood) ได้รับแต่งตั้งเป็นกงสุลอังกฤษประจำเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2457 (ค.ศ. 1914) เนื่องจากวูดเคยมีประสบการณ์ในการวางผังและแนวคิดในการออกแบบสถานทูตอังกฤษในกรุงเทพฯมาก่อน ดังนั้นงานแรกของเขาที่เชียงใหม่คือการสร้างบ้านพักกงสุล สำนักงานกงสุล ห้องพิจารณาคดี รวมถึงเรือนคนใช้และคอกช้าง ซึ่งวูดมีช้างอยู่ 4 เชือก สำหรับการเดินทางไกลในสมัยนั้น สถานกงสุลใหม่รวมถึงบ้านพักกงสุลได้เปิดทำการในปี พ.ศ. 2458 (ค.ศ. 1915) โดยด้านหน้าอาคารมีสนามหญ้าและแปลงดอกไม้สวยงาม (Wood, 1999 หน้า 37)
ที่ประตูทางออกด้านทิศตะวันตกมีรูปปั้นของพระนางเจ้าวิคตอเรีย ที่ทำจากทองสัมฤทธิ์ตั้งอยู่บนแท่นสี่เหลี่ยมที่มีฐานและแผ่นป้ายหินอ่อนอยู่ด้านหน้า รูปปั้นนี้หล่อที่อังกฤษและถูกส่งทางเรือมายังกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเรือไม่สามารถเดินทางถึงท่าเรือที่กรุงเทพฯตรงตามเวลาที่กำหนดได้ อีกทั้งต้องมีการนำรูปปั้นดังกล่าวลงเรือมาตามแม่น้ำเพื่อส่งมายังเชียงใหม่ได้ทันกำหนดการประชุมในช่วงคริสต์มาสของบริษัทสัมปทานป่าไม้ในเชียงใหม่ ดังนั้นจึงได้มีการส่งโทรเลขให้มีการนำรูปปั้นลงจากเรือที่ร่างกุ้ง จากนั้นรูปปั้นได้ถูกขนส่งมาทางรถไฟจนถึงเมืองมะละแหม่ง และหลังจากนั้นมีการขนส่งรูปปั้นบนหลังช้างรวมทั้งใช้คนหาม ขึ้นเขาลงห้วยข้ามแม่น้ำมายังพรมแดนและมาถึงเชียงใหม่ได้ทันเวลา โดยมีพิธีเปิดตัวรูปปั้นพระนางเจ้าวิคตอเรีย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2446 (ค.ศ. 1903) หลังจากมีการปิดกงสุลอังกฤษที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2523 (ค.ศ. 1980) ได้มีการย้ายรูปปั้นพระนางเจ้าวิคตอเรียไปไว้ที่สุสานชาวต่างชาติในเชียงใหม่ (Wood, 1999 หน้า V)
บ้านพักกงสุลเป็นอาคาร 2 ชั้น ที่ออกแบบในลักษณะบ้านในเขตอากาศร้อน โดยก่อสร้างกึ่งปูนกึ่งไม้สักในรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคม โดยตัวอาคารมีความยาว 20 เมตรและสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ชั้นล่างด้านนอกมีทิวเสาฉาบปูนล้อมรอบอาคาร และมีห้องต่างๆอยู่ภายในผนังทั้งสี่ด้านที่สูงไปจรดชั้นสองของอาคาร อาคารมีเพดานสูงที่บุด้วยไม้สักอย่างสวยงามทั้งชั้นล่างและชั้นบน (Cosi, 1995 หน้า 11) มีประตูทำด้วยไม้สักและมีช่องระบายอากาศอยู่ด้านบนประตู รอบตัวบ้านมีหน้าต่างที่ทำด้วยไม้สักแบบแป้นเกร็ดเพื่อช่วยระบายอากาศ
ชั้นบนมีระเบียงรอบตัวบ้านที่ปูด้วยไม้สักทองและมีเพดานสูงที่บุด้วยไม้สักทองเช่นกั้น มีลูกกรงกั้นระเบียงโดยรอบเพื่อช่วยระบายอากาศด้วยเช่นกัน ตัวระเบียงมีหลังคาคลุมไว้ทั้งหมด ทำให้ระเบียงเป็นพื้นที่สวยงามของบ้านเหมาะแก่การดื่มน้ำชายามบ่าย ในห้องอาหารมีพัดลมโบราณแบบอินเดียที่ใช้ผ้าผืนใหญ่แขวนไว้กับเพดาน และมีเชือกสำหรับแกว่งไกวผ้าเพื่อทำให้อากาศในห้องเย็นขึ้น เพราะการรับประทานอาหารค่ำมักใช้เวลานาน บ้านพักกงสุลหลังนี้ไม่มีเตาผิงและปล่องไฟทั้งที่มีอยู่ในแปลนสร้างบ้าน ทั้งนี้เป็นเพราะกงสุลวูดคิดว่าหน้าหนาวที่เชียงใหม่คงไม่หนาวมาก แต่อากาศในหน้าหนาวก็หนาวจริงโดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ที่หนาวมากจนกงสุลวูดบอกว่าเขาขยับนิ้วทำงานแทบไม่ได้ และถึงแม้จะสามารถหาไม้ที่เชียงใหม่มาทำเฟอร์นิเจอร์ได้ง่าย แต่ก็หาช่างทำเฟอร์นิเจอร์ที่มีฝีมือต้องรสนิยมชาวตะวันตกได้ยาก ดังนั้นเฟอร์นิเจอร์ในสำนักงานกงสุลและบ้านพักกงสุลจึงถูกนำมาจากกรุงลอนดอน และลงเรือจากกรุงเทพฯ มายังเชียงใหม่ (Cosi, 1995 หน้า 11-12)
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านพักกงสุลอังกฤษ
บ้านพักกงสุลอังกฤษสะท้อนอำนาจผ่านรูปแบบอาคารนีโอคลาสสิค โดยตัวอาคารถูกใช้เป็นภาพตัวแทนสะท้อนถึงเสถียรภาพของเจ้าของ ซึ่งนีโอคลาสสิคเป็นรูปอาคารที่เน้นจังหวะอาคารที่เท่ากัน สะท้อนผ่านแนวเสาอาคารที่มีระยะห่างที่เท่ากันและมีการกำหนดรูปทรงอาคารที่เป็นเส้นนอนที่สมมาตร เนื่องจากอาคารสร้างขึ้นในช่วงธุรกิจสัมปทานป่าไม้กำลังรุ่งเรือง ทำให้มีการนำไม้สักทองอย่างดีมาใช้เป็นพื้น เพดานและส่วนประกอบอื่นๆของอาคาร ที่สามารถสะท้อนความมั่งคั่งของอาคาร สิ่งที่น่าสนใจคือการวางบันไดเรือนในตัวอาคาร และเก็บพื้นที่ใช้สอยต่างๆอยู่ภายในรูปทรงอาคารอย่างเป็นระเบียบ และมีการสร้างระเบียงล้อมรอบอาคารเพื่อให้เกิดร่มเงาในห้องภายในอาคารซึ่งถือว่าอาคารหลังนี้นำเอารสนิยมของอาคารรูปแบบนีโอคลาสสิคมาใช้กับเทคนิคของงานก่อสร้างแบบอาคารไม้ที่ใช้เสาคานไม้สักเป็นหลักมาประกอบกับงานก่ออิฐฉาบปูนในส่วนของฐานอาคารได้อย่างลงตัวและงดงาม
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
การวางตัวอาคาร ขนานไปกับลำแม่น้ำปิง ทำให้สันนิษฐานได้ว่า มีท่าเรือตั้งอยู่ในบริเวณทิศเหนือของที่ตั้ง และตัวอาคารนั้นวางตัวโดยหันรับกับบริเวณสวนอเนกประสงค์ที่ใช้สำหรับประกอบพิธีต่างๆ ซึ่งสามารถสังเกตถึงการวางตัวอาคารที่ไม่ได้วางไปกับแนวถนนเจริญประเทศ แต่เน้นไปกับแนวลำแม่น้ำปิงที่ถูกใช้เป็นเส้นทางการขนส่งที่สำคัญในอดีต จึงทำให้เข้าใจได้ว่าตัวอาคารนี้ วางตัวขนานและมีผังบริเวณที่มีทางเข้าอาคารในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทำให้การรับรู้จากทางเข้าอาคารเห็นถึงความโออ่า และความเป็นส่วนตัวของอาคาร
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
ตัวอาคารมีการวางผังชัดเจนว่าทางด้านหน้าอาคารคือแนวระเบียงอาคาร ที่เอาด้านขวางวางรับด้านหน้าโครงการ ตัวสถาปัตยกรรมมีการวางผังอาคารที่ใช้แนวเสาล้อมรอบกิจกรรมหลัก ทำให้มีการวางเสาเป็นจังหวะตามกิจกรรมภายในก่อน ซึ่งพื้นที่อาคารถูกคิดตามแนวตะวันตกคือ มีขนาดการใช้งานที่ใหญ่โตและกว้างขวางกว่าอาคารพื้นถิ่น ทำให้เกิดระยะพาดของช่วงคานและเสาที่กว้างกว่าปกติ ด้วยการใช้ไม้สักเป็นโครงสร้างเสาและรองรับเสาไม้คาน ทำให้อาคารมีเสามากมายในการวางผัง รูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีลักษณะนีโอคลาสสิค ด้วยการวางอาคารที่สมมาตร และเน้นเส้นนอนของอาคารที่มีจังหวะเท่ากัน ทำให้อาคารสะท้อนเสถียรภาพของรูปด้านหน้าอาคาร และมีพื้นที่ใช้งานที่กว้างขวางกว่าอาคารไม้พื้นถิ่น รวมไปถึงระยะจากพื้นไปถึงเพดาน ก็สูงกว่าปกติถึงราวๆ 3 เมตร ทำให้อาคารมีขนาดใหญ่กว่าอาคารปกติ
วิเคราะห์อาคารในส่วนรายละเอียดขององค์ประกอบและเทคนิคการก่อสร้าง
ความน่าสนใจคือ การวางโถงบันไดในตัวอาคาร ที่เป็นการวางผังนามแนวคิดตะวันตก ที่น่าสนใจคือ วางช่องทางขึ้นบันไดในผังอาคารฝั่งตะวันออก ทำให้อาคารมีทางเข้าและทางขึ้นเรือนไปในทางเยื้องไปทางตะวันออก แต่ช่างทำอาคารกลับสร้างใช้แนวเสาจากแนวระเบียงเป็นการพลางสายตา ทำให้อาคารยังคงดูมีเอกภาพและสมมาตรอยู่ นอกจากนี้ยังมีการวางเสาคู่ในชั้นสอง เพื่อรองรับโครงสร้างหลังคาและระเบียง ทำให้อาคารมีการผังเสาคู่ในชั้นสอง ในบริเวณระเบียงอาคารที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีการใช้เสาไม้คู่เป็นลูกเล่นในการก่อสร้างอาคารและมีความงานด้วย