เมื่ออาร์เธอร์ ไลโอเนล คิวริเปล (Arthur Lionel Queripel) อายุได้ 22 ปี ในปี พ.ศ. 2443 (ค.ศ. 1900) เขาได้เข้ามาทำงานกับบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่แพร่ จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2445 (ค.ศ. 1902) คิวริเปลได้ย้ายมาทำงานที่เชียงใหม่ โดยมี วิลเลี่ยม วิลลอฟบี วูด (William Willoughby Wood) เป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่ และอีก 2 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2447 (ค.ศ. 1904) เขาถูกย้ายกลับไปทำงานที่แพร่อีกครั้งหนึ่ง อีก 4 ปีต่อมา พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1908) คิวริเปลถูกย้ายมาประจำการที่เชียงใหม่ได้เพียงปีเดียว ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2452 (ค.ศ. 1909) เขาถูกย้ายไปทำงานในเขตป่าสาละวิน (ป่าสัมปทานของบริษัทบอมเบย์เบอร์มา ในเขตแม่สะเรียงและปายซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำสาละวิน) อีก 3 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2455 (ค.ศ. 1912) เขาได้ย้ายมาประจำที่เชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำงานที่เชียงใหม่ได้ 7 ปีในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919) คิวริเปลป่วยหนักและได้ลากลับไปรักษาตัวที่อังกฤษ (Macfie, 1987) และอีก 3 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) คิวริเปลได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่
คิวริเปลเกษียณอายุจากการเป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาที่เชียงใหม่ประมาณปี พ.ศ. 2476 (ค.ศ. 1933) และจากการที่เขาทำงานและอาศัยอยู่ในดินแดนล้านนาเป็นเวลายาวนานทำให้เขาสามารถพูดภาษาพื้นเมืองล้านนาได้เป็นอย่างดี หลังจากเกษียณอายุแล้วคิวริเปลได้ไปทำงานเป็นผู้จัดการตลาดวโรรสให้กับทายาทตระกูล ณ เชียงใหม่ โดยมีการจัดตั้งเป็นรูปแบบบริษัทและแบ่งเป็นหุ้นส่วน อีกทั้งมีการสร้างตึกแถวรอบบริเวณตลาดทั้งสี่ด้าน โดยมีเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้ควบคุมดูแลบริษัท (เจ้าวงศ์จันทร์ คชเสนี, 2540 หน้า 50; กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 147)
คิวริเปลมีลูกสองคนกับภรรยาสองคนแรกก่อนที่จะมีภรรยาคนที่สามชื่อดอกจันทร์ซึ่งเป็นคนลำปางเชื้อสายไทใหญ่ โดยมีบุตรด้วยกันอีกสิบเอ็ดคน อาจจะเป็นเพราะว่าคิวริเปลมีลูกหลายคนเขาจึงตั้งชื่อลูกให้แปลกและจำได้ง่าย มีเรื่องเล่าว่าลูกคนหนึ่งชอบนำกล้องทางไกลของเขาไปส่องเล่นเขาจึงตั้งชื่อลูกคนนั้นว่า ‘อินส่อง’ ส่วนลูกสาวคนหนึ่งของเขาเก่งด้านการทำบัญชีเขาจึงตั้งชื่อลูกคนนั้นว่า ‘บัญชี’ ส่วนลูกคนอื่นๆก็มีชื่อที่แปลกและโดดเด่นเช่น ‘สีมอญ’ ‘ปิงป้อง’ ‘ศรีอู๊ด’ ‘ซินเดอร์’ เป็นต้น (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 143)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 (ค.ศ. 1941) คิวริเปลได้ถูกจับตัวจากบ้านหลิ่งห้า บ้านพักหลังเกษียณของเขากับครอบครัว ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. (ค.ศ. 1941) ครอบครัวของเขาก็ถูกบังคับให้ออกจากบ้านภายในวันนั้น และต่อมาบ้านหลิ่งห้าของคิวริเปลถูกใช้เป็นที่พักและที่ทำงานของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงคราม ในวันที่ 25 ธันวาคม คิวริเปล พร้อมทั้งวูด แม็คฟี และเบน ถูกนำตัวขึ้นรถไฟไปกรุงเทพฯและถูกนำไปกักตัวที่ค่ายกักกันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ (Backhouse, 2020 หน้า 29) โดยแม่เลี้ยงดอกจันทร์และครอบครัวได้ย้ายไปอาศัยอยู่แถวอำเภอหางดง คิวริเปลถูกปล่อยตัวจากค่ายกักกันในเดือนมกราคม พ.ศ. 2486 (ค.ศ. 1943) เพราะเขาป่วยและมีอายุมากแล้ว หลังจากนั้นคิวริเปลได้พักอาศัยอยู่กับบัญชีลูกสาวของเขาที่กรุงเทพฯ และไม่มีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านหลิ่งห้าที่เชียงใหม่ของเขาอีกเลย คิวริเปลป่วยหนักและเสียชีวิต เมื่อมีอายุได้ 67 ปี ในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) (Backhouse, 2020 หน้า 29) ร่างของเขาถูกฝังไว้ที่สุสานโปรเตสแตนท์ กรุงเทพฯ รวมเวลาที่เขาเข้ามาทำงานและใช้ชีวิตในพื้นที่ตอนบนของสยามและเชียงใหม่ประมาณ 45 ปี
เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) คิวริเปลได้สร้างบ้านหลิ่งห้าเพื่ออาศัยอยู่กับครอบครัว นอกจากนี้เขายังมีบ้านบนดอยสุเทพ ที่เรียกว่า ‘บ้านบวกห้า’ ทั้งนี้เนื่องจากตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ที่เป็นส่วนหนึ่งของดอยสุเทพ ที่ล้อมรอบไปด้วยพืชพันธ์ไม้และนกป่า (de Schauensee, 1934; Backhouse, 2020 หน้า 29) บ้านหลังนี้เป็นของบริษัทบอมเบย์เบอร์มาและในช่วงที่คิวริเปลเป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาสำนักงานเชียงใหม่เขาได้สร้างบ้านหลังนี้ไว้เพื่อพักผ่อนในหน้าร้อน อีกทั้งยังใช้เป็นบ้านรับรองเพื่อนฝูงชาวต่างประเทศที่มาเยือนเชียงใหม่ บ้านหลังนี้ถูกรื้อถอนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (Backhouse, 2020 หน้า 29) บริเวณของบ้านบวกห้าในปัจจุบันคือพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ และสนามเทนนิสในอดีตคือลานจอดเฮลิคอปเตอร์ในปัจจุบัน (กิตติชัย วัฒนานิกร, 2558 หน้า 146)
บ้านหลิ่งห้า
คิวริเปลได้สร้างบ้านพักอาศัยในรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2469 (ค.ศ. 1926) ในช่วงที่เขาเป็นผู้จัดการบริษัทบอมเบย์เบอร์มาเชียงใหม่ เนื้อที่บริเวณบ้านมีประมาณ 100 ไร่ เนื่องจากที่ตั้งของบ้านอยู่เชิงดอยสุเทพซึ่งเป็นพื้นที่ลาดเอียง และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นมะห้า ซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองทางเหนือ จึงทำให้พื้นที่แถวนี้จึงถูกเรียกว่าหลิ่งห้า และบ้านพักของคิวริเปลถูกเรียกว่า ‘บ้านหลิ่งห้า’ โดยมีหม่องตันซึ่งเป็นคนพม่าเป็นสถาปนิกออกแบบบ้าน ลักษณะของบ้านในรูปแบบสถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษตั้งอยู่โดดเด่นในพื้นที่สวนที่กว้างใหญ่ บ้านหลิ่งห้าถือเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของชาวตะวันตกที่ใหญ่โตหรูหราและทันสมัยมากเมื่อเทียบกับบ้านเรือนทั่วไปของชาวบ้านในเชียงใหม่เวลานั้น
บริเวณบ้านหลิ่งห้าล้อมรอบด้วยรั้วต้นไผ่ อาณาบริเวณอันกว้างขวางของบ้านหลิ่งห้าในอดีตรวมไปถึงพื้นที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปัจจุบัน (รัลจนา กิรติปาล, 2564-สัมภาษณ์) เนื่องจากคิวริเปลเป็นผู้ที่สนใจและมีความรู้เกี่ยวกับการนำต้นไม้พันธุ์แปลกๆจากต่างประเทศมาปลูกในพื้นที่ตอนบนของสยาม (Queripel, 1932) ทำให้พื้นที่ในบริเวณบ้านอันกว้างขวางของเขามีการปลูกทั้งไม้ดอกและไม้ผลนานาชนิดจำนวนมาก รวมถึงการปลูกสตรอเบอรี่เป็นครั้งแรกในเชียงใหม่อีกด้วย และการปลูกดอกไม้ฝรั่งที่สวยงาม เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จประพาสเชียงใหม่ ได้เสด็จเข้าชมสวนในบริเวณบ้านของคิวริเปลอีกด้วย (พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560)
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 บ้านหลิ่งห้าถูกยึดครองโดยทหารญี่ปุ่น และแม่เลี้ยงดอกจันทร์ได้พาลูกๆอพยพหนีภัยไปอาศัยอยู่นอกเมือง เมื่อสงครามสิ้นสุดลงและทหารญี่ปุ่นออกจากบ้านไปแล้ว บ้านหลิ่งห้าก็ยังคงเป็นบ้านร้างไม่มีผู้อยู่อาศัย กอรปกับเจ้าชื่น สิโรรส ซึ่งได้อพยพหนีภัยสงครามไปอยู่ที่ถ้ำผาผัวะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หลวงปู่สิม ได้ธุดงค์และจำพรรษาที่ถ้ำผาผัวะ หลวงปู่สิมจึงเป็นเสมือนที่พึ่งของคนที่อยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด เมื่อออกพรรษาแล้วหลวงปู่สิมได้จาริกธุดงค์ไปยังสถานที่วิเวกหลายแห่งในเชียงใหม่ และเมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาได้ยุติลงแล้ว ในปลายปี พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) เจ้าชื่น สิโรรส ได้อาราธนาหลวงปู่สิมให้มาพักจำพรรษาที่บ้านหลิ่งห้าได้สองพรรษา และเนื่องจากแม่เลี้ยงดอกจันทร์และลูกๆต้องการย้ายกลับมาพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลิ่งห้า บรรดาศรัทธาญาติโยมของหลวงปู่สิมจึงได้รวบรวมเงินสร้างวัดสันติธรรมเพื่อถวายแก่หลวงปู่สิมในเวลาต่อมา (ประวัติวัดสันติธรรม มปป.)
เมื่อครอบครัวของคิวริเปลได้ย้ายกลับเข้ามาอาศัยในบ้านหลิ่งห้า ก็พบว่าทหารญี่ปุ่นได้เอาระเบิดจำนวนมากทิ้งไปในบ่อน้ำขนาดใหญ่ในบริเวณหลังบ้าน จึงได้มีการแจ้งให้ทางราชการเพื่อนำเอาระเบิดออกไปจากบ่อน้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2507 ( ค.ศ. 1964) ได้มีการเวนคืนบ้านหลิ่งห้าและที่ดินทั้งหมดของคิวริเปลให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พิพิธภัณฑ์เรือนโบราณล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2560) ทำให้บ้านหลิ่งห้าถูกปรับปรุงเพื่อใช้เป็นสำนักงานของศูนย์วิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันบ้านหลิ่งห้าและส่วนหนึ่งของบริเวณบ้านเป็นสำนักงานของสำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อัตลักษณ์สถาปัตยกรรมอาณานิคมอังกฤษของบ้านหลิ่งห้า
ปัจจุบันอาคารบ้านหลิ่งห้าถูกรักษาคงสภาพเดิมไว้ จากภูมิหลังด้านประวัติศาสตร์ของอาคารในอดีตพบว่า อาคารหลังนี้อยู่ในอาณาบริเวณที่ดินของคิวริเปลที่ทำเกษตรกรรม สวนสตรอเบอรี่ และพืชพันธ์ไม้แปลกๆจากต่างประเทศ และสวนแบบอังกฤษ โดยอาคารตั้งอยู่ในส่วนด้านหลังของสวน ที่มีการออกแบบอย่างสวยงาม ผ่านการเป็นบ้านร่วมสมัย แนวคิดที่น่าสนใจคือ ตัวอาคารสร้างด้วยรสนิยมตะวันตกมีการวางชั้นใต้ถุน ชั้นที่หนึ่งและชั้นที่สอง และชั้นใต้หลังคา โดยมีแนวคิดการวางสมมาตรของพื้นที่ใช้สอยให้โถงกลางอาคารเป็นโถงและบันได ปีกอาคารสองฝั่งแบ่งกิจกรรมใช้สอยตามขนาดห้อง สิ่งที่น่าใจคือตัวอาคารนำเอาเสาคอนกรีตและระบบผนังก่ออิฐรับน้ำหนักมาใช้เป็นหลัก แต่มีองค์ประกอบของการตกแต่งและโครงสร้างรองที่เป็นวัสดุพื้นถิ่นอาทิ แผ่นฝาและพื้นไม้สัก และการนำเอาเครื่องปั้นดินเผามาใช้ในบนแผ่นพื้นและองค์ประกอบราวระเบียง การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ตู้ไม้สักติดกับผนัง (Built-in furniture) และการคลุมหลังคาอาคารเป็นหลังคารูปทรงจั่วผสมปั้นหยา หรือที่เรียกว่า ทรงมะนิลา
วิเคราะห์การวางผังบริเวณอาคาร
จากประวัติศาสตร์ของการวางผังบริเวณที่ตั้งของบ้านพบว่า การเป็นบ้านพักอาศัยท่ามกลางไร่สตอเบอรี่ และพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลแปลกๆ ทำให้อาคารนี้วางผังบริเวณในส่วนท้ายของพื้นที่เกษตรกรรมและอาคารมีการวางผังขนานไปกับลำเหมืองเกษตรกรรม ตัวอาคารวางตัวด้านขนานเป็นด้านหน้าโครงการ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีแนวคิดนีโอคลาสลิกในการวางผังบริเวณ ประกอบกับการใช้พื้นที่สวนเป็นส่วนผังบริเวณเพื่อให้อาคารที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นกับบริบทรอบข้าง ซึ่งแตกต่างจากอาคารพื้นถิ่นที่วางตัวกระจายกันเป็นกลุ่มบ้าน และมีลานบ้านร่วมกันเพื่อการเกษตรกรรม แต่ผังบริเวณอาคารหลังนี้กลับแบ่งแยกพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ผังบริเวณบ้านออกจากกันแต่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินและลำเหมืองแทน ซี่งเป็นอิทธิพลของแนวคิดการวางผังอาคารแบบตะวันตก ที่เน้นประโยชน์ใช้สอยนิยม
วิเคราะห์รูปแบบอาคารจากผังอาคารและรูปหน้าด้านอาคาร
จากรูปทางอาคารมีการวางผังอาคารที่คิดจากพื้นที่ใช้สอยของอาคารก่อน ทำให้อาคารคิดจากการวางห้องอาคารและวางแนวเสาไปตามห้องต่างๆ ทำให้เกิดระบบเสาที่คิดตามประโยชน์ใช้สอยก่อน ที่น่าสนใจคือการเกิดพื้นที้ชั้นใต้ดินหรือ basement ที่เป็นคุณลักษณะของอาคารตะวันตก ทำให้ตัวอาคารมีชั้นอาคาร 3 ชั้นคือ ชั้นใต้ดิน ชั้นแรก และชั้นสอง รูปลักษณะของอาคารเป็นการสร้างอาคารที่ร่วมสมัยกับแนวคิดนีโอคลาสสิค ผสมกับความเป็นพื้นถิ่น ที่มีการผสมของการใช้วัสดุและโครงสร้างเป็นเหล็กและคอนกรีต โดยในส่วนการตกแต่งอาคารจะมีงานช่างฝีมือผสมกันอยู่